เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เพจเฟซบุ๊ก สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่กำหนดให้มีคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขังที่มิใช่เรือนจำ อันเป็นวิธีการเพื่อการจำแนกและแยกคุมขัง การพัฒนาพฤตินิสัย การรักษาพยาบาล และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกตามมาตรา 33 และ 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่ตราขึ้นโดย สนช. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2557

ส่วนการกำหนดให้สถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ เป็นสถานที่คุมขังนักโทษเด็ดขาดในแต่ละประเภท เช่น สถานที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สถานศึกษา มัสยิด สถานประกอบการของเอกชน มูลนิธิ หรือโรงพยาบาล เป็นต้น เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ออกและให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ การกำหนดให้สถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขัง มิได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเป็นวิธีการที่ใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว ส่วนในประเทศไทยได้ถูกใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 89/1 และ 89/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้ศาลมีอำนาจมีคำสั่งให้ผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ไปคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในระหว่างการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2549

ดังนั้น การที่หลายฝ่ายกล่าวหากรมราชทัณฑ์ว่า ออกระเบียบเพื่อเอื้อให้อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จึงคลาดเคลื่อนและอคติ เพราะวิจารณ์โดยมิได้ตรวจสอบข้อมูลและที่มาของระเบียบว่า ออกตามกฎหมายที่ถูกตราขึ้นโดยฝ่ายผู้ที่ยึดอำนาจทั้งสิ้น การแสดงความเห็นดังกล่าวสร้างความขัดแย้งและความเกลียดชังระหว่างคนไทยด้วยกันเอง แย่ไปกว่านั้นคือ จะส่งผลกระทบไปยังผู้ต้องขังอื่นที่ควรจะได้รับสิทธิโดยชอบ แต่อาจต้องเสียสิทธิเพราะอคติทางการเมืองที่วิจารณ์โดยขาดข้อมูลและขาดความรับผิดชอบ

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
15 ธันวาคม 2566