เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง นำตัว ร.ต.ท.ณรงค์วัส ทะชาดา หรือ นัท อายุ 25 ปี รอง สว.(สอบสวน) สน.หัวหมาก ผู้ต้องหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร, ยิงปืนใช้ดินระเบิดโดยใช้เหตุในเมืองหมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน มาฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน

พฤติการณ์สรุปคือ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 66 เวลา 23.30 น. มีเหตุฆาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนมีผู้เสียชีวิตอยู่บริเวณบนทางด่วนฉลองรัฐ (ลาดพร้าวขาออก) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิตคือ นายกฤษฏิ์ ครุวรานนท์ อายุ 30 ปี นักธุรกิจ ผู้ตายนอนหงายเสียชีวิตอยู่บริเวณช่องทางเดินรถที่หนึ่งนับจากซ้าย มีบาดแผลถูกยิงด้วยปืนบริเวณศีรษะ และตามร่างกาย

จากการสอบถามพยานให้การว่าพบรถตู้สีดำยี่ห้อฮุนได รุ่นเฮชวัน ทะเบียนป้ายแดง ก-8888 ชนขอบทางด้านซ้ายและเห็นชายสองคนกำลังชกต่อยกัน จึงได้ลงรถมาเพื่อห้ามและเห็นผู้ต้องหาใช้มือข้างขวาชักอาวุธปืนจากเอวขวายิงมาที่ผู้ตาย จากนั้นผู้ต้องหาก็ขับรถหนีไป พยานได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ตาย โดยผู้ตายให้พยานโทรฯหาภรรยา ต่อมาอีก 8 นาทีมีรถตู้คันดังกล่าวขับมาทิศทางตรงข้ามกลับมาจุดเกิดเหตุ

‘ร.ต.ท.ปืนโหด’ สารภาพนาทียิงแสกหน้านักธุกิจ แค้นบังคับโอนเงิน 20 ล้านไม่สำเร็จ

จากนั้นผู้ต้องหาวิ่งลงมาจากรถพร้อมถืออาวุธปืน พยานจึงวิ่งกลับมาที่รถ และขับออกไป ขณะนั้นมีรถประจำทางมาจอด และเห็นผู้ต้องหาดึงแขนของผู้ตาย และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายอีกสองนัด ก่อนจะวิ่งขึ้นรถตู้ดังกล่าวขับออกไป

จากการสอบสวนเชื่อว่า ร.ต.ท.ณรงค์วัส ทะชาดา  คือผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับ จากนั้นกองสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ไปจับกุมตัวผู้ต้องหาดังกล่าวบริเวณหอพัก ย่านซอยสรณคมน์ ถนนสรณคมน์ เขตดอนเมือง เหตุเกิดที่บริเวณบนทางด่วนฉลองรัฐ (ลาดพร้าวขาออก) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 66 เวลา 23.30 น.

การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289 อนุมาตรา 4 และพระราชบัญญัติปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4 ,7 ,8 ทวิ 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติปืนเครื่องกระสุนปืนดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนฉบับที่สาม พ.ศ.2501 มาตรา 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา5, 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับ 44 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 พระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 376 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 6

ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปาก รอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.66-11 ม.ค.67

ท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวน รวมทั้งผู้เสียหายขอคัดค้านหากผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีภายหลัง

ศาลอาญาพิจารณาคำร้องแล้ว อนุญาตให้ฝากขังได้