ถูกสนใจอยู่อย่างมากมายสำหรับเรื่องราวของ กุ้ง-สุธิราช วงศ์เทวัญ นักร้องลูกทุ่งและพระเอกลิเกชื่อดังและน้าสาว จิ้งหรีดขาว วงศ์เทวัญ อายุ 49 ปี ที่ล่าสุดเพิ่งออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดเผยอาการป่วยของ วิรดา วงศ์เทวัญ หรือ วิ นางเอกลิเกชื่อดังน้องสาวของกุ้ง สุธิราช ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงและยังไม่รู้สึกตัว ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา รวมกว่า 12 วันแล้ว ท่ามกลางความตกใจและห่วงใยของแฟนๆ ทั้งประเทศที่ส่งไปหาสาววิและครอบครัวอย่างมากมาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดหนุ่มกุ้งและจิ้งหรีดขาวได้ออกมาพูดถึงอาการของน้องวิ และหนึ่งในประเด็นที่คนสนใจคือสายพันธุ์ของไข้เลือดออกของน้องวิ ซึ่งทราบแล้วว่าเป็น สายพันธุ์เดงกี โดยเราได้นำข้อมูลในเรื่องนี้มาให้ทุกคนรู้แล้ว

โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น ซึ่งร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมดมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย
   

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 และพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 พบการระบาดใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2530 มีรายงานผู้ป่วยสูงถึง 170,000 กว่าราย เสียชีวิต 1,000 กว่าราย หลังจากนั้นประเทศไทยมีแนวโน้มของการพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยในปีที่มีการระบาดใหญ่จะพบผู้ป่วยมากกว่า 100,000 ราย และเสียชีวิต 100 รายขึ้นไป
     

โรคไข้เลือดออกมีลักษณะที่แปรผันตามฤดูกาล (Seasonal variation) โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน เดือนกันยายนจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ถ้าหากช่วงปลายปีจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลงและยังคงสูงลอย อาจทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่องในปีถัดไปได้ 

โดยสาเหตุของโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวบวก (single– stranded RNA) อยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae โดยโครงสร้างของไวรัสมีไขมันเป็นเปลือกหุ้ม (lipid envelope) และโครงสร้างภายในประกอบด้วย โปรตีนโครงสร้าง (Structural proteins) และ โปรตีนไม่ใช่โครงสร้าง (Non-structural proteins) ได้แก่ NS1, NS2A, NS2B, NS3, NS4A, NS4B  และ NS5 โดยเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสจะมีการปล่อยโปรตีน NS1 ออกมาในระยะมีไข้เฉียบพลัน จึงทำให้ในปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจชนิดรวดเร็วในการตรวจหาโปรตีน NS1 เพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเดงกี
ไวรัสเดงกีมี 4 ซีโรทัยป์ (Serotype) ได้แก่ DENV–1, DENV–2, DENV–3 และ DENV–4 โดยผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์ที่เคยได้รับไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์อื่น ในระยะสั้น ประมาณ 3–12 เดือน

วิธีการติดต่อ การแพร่กระจายของไวรัสเดงกีอาศัยยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยยุงลายเพศเมียดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในระยะที่มีไวรัสในกระแสเลือด (Viremia) โดยทั่วไประยะ viremia จะอยู่ในช่วง 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ เมื่อยุงลายได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้ระยะเวลาฟักตัว (Extrinsic incubation period; EIP) ประมาณ 8–12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนได้ และเมื่ออีกคนได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้เวลาประมาณ 3–14 วัน (เฉลี่ย 4–7 วัน) (Intrinsic incubation period; IIP) ถึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งบางรายอาจจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้