เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. พร้อม พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.สุเทพ โตอิ้ม รอง ผบ.ก.ป. พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป. พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายศิลปินดังแอบอ้างโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลวงเหยื่อสูญเงินกว่า 2,000 ล้าน โดยจับกุม 10 ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอสารราชการปลอม, ทุจริตหรือหลอกลวง โดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, ร่วมกันฟอกเงิน, สมคบฟอกเงิน” พร้อมยึดของกลาง รถหรู 1 คันรถยนต์ 6 คัน เงินสด 554,800 บาท กระเป๋าแบรนด์เนม 59 ใบ นาฬิกาแบรนด์เนม 6 เรือน เครื่องประดับ 41 รายการ แว่นตาแบรนด์เนม 38 รายการ หมวกแบรนด์เนม 20 ใบ กีตาร์ 3 ตัว อายัดเงินสดในบัญชีธนาคาร 174 ล้านบาท และอายัดอสังหาริมทรัพย์ อีกมูลค่า 60 ล้านบาท รวมทรัพย์สินทั้งหมด 279,178,683 บาท 


พล.ต.ต.โสภณ เปิดเผยว่า ช่วงปี 2559 น.ส.รัชญา หรือ ใบขวัญ ยอดแก้ว พร้อมกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 10 ได้ร่วมกันหลอกลวงเงินผู้คน โดยอ้างว่ารู้จักสถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงโครงการเงินกู้วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำได้ อีกทั้งยังแอบอ้างชื่อองคมนตรี หน่วยงานราชการต่างๆ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียม หรือค่าดำเนินการ จนมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินค่าธรรมเนียมให้ น.ส.รัชญา และพวก กว่า 300 คน ตั้งแต่หลัก 10 ล้านไปจนถึงร้อยล้านบาท เพียงเพราะหวังต้องการจะได้เงินกู้เงินหลักพันล้านบาท มาประกอบธุรกิจ 

พล.ต.ต.โสภณ กล่าวต่อว่า ต่อมาต้นปี 2566 น.ส.รัชญา เสียชีวิตลงกะทันหันด้วยโรคประจำตัว กลุ่มผู้เสียหายทั้งหมดจึงตรวจสอบว่าเงินที่ น.ส.รัชญา ได้ไปดำเนินการอย่างไรต่อ จึงทราบว่าไม่มีโครงการกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นการแอบอ้างกุเรื่องขึ้นมา อีกทั้งจากแนวทางสืบสวนยังพบว่า เดิมที น.ส.รัชญา ประกอบอาชีพขายของออนไลน์ แต่หลังจากได้เงินที่หลอกลวงผู้เสียหายมาได้ จึงนำมาลงทุนสร้างบริษัทค่ายเพลง ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการ เพื่ออำพรางแหล่งที่มาเงินรายได้ 

พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 2,000 ล้านบาท มีการโอนไปยังบัญชีธนาคารของเครือญาติ ซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ รถหรู บ้าน ของแบรนด์เนม เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ พร้อมกระจายกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 19 จุด ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี กรุงเทพฯ นครราชสีมา พิษณุโลก เชียงใหม่ กำแพงเพชร และสมุทรปราการ จนนำมาซึ่งการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำผิดดังกล่าว จากการสอบสวนผู้ต้องหาส่วนใหญ่ยังคงให้การภาคเสธ ยอมรับเพียงว่าเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารจริง แต่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการหลอกเอาเงินผู้คน เบื้องต้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.ป. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.