องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยการสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ของกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Ministry for Economic Affairs and Climate Action: BMWK) จัดการประชุมโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal and Marine Biodiversity: CCMB) ในวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) เพื่อชี้แจงแนวทางและแผนงานของโครงการฯ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานว่า “ประเทศเยอรมนีและไทยเป็นพันธมิตรด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างยาวนาน ซึ่งแผนงาน IKI ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลเยอรมนีเมื่อ 16 ปีก่อนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย นอกจากนั้น IKI ยังช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีเป็นอย่างดีจนทำให้มีพันธมิตรจากหลากสาขาในหลายโครงการ สำหรับโครงการ CCMB ที่ดำเนินการโดย GIZ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรที่สำคัญคือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ลดการปล่อยคาร์บอน สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลและชายฝั่ง พร้อมสนับสนุนทั้งสองหน่วยงานในการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานว่า “โครงการ CCMB มุ่งดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยทำงานผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งเครื่องมือทางกฎหมาย เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และเครื่องมือเชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่คุ้มครองทางทะเล พื้นที่ที่มีมาตรการคุ้มครองอื่นที่มีประสิทธิภาพ (Other Effective Area-based Conservation Measures: OECMs) และพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงนิเวศหรือชีววิทยา นอกจากนั้น โครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญผ่านการให้งบประมาณสนับสนุนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญของไทยจากหลากหลายสาขาได้เข้ามาสนับสนุนทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการทำงานต่อไป สำหรับภาคีเครือข่ายที่มาร่วมการประชุมในวันนี้ถือเป็นพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถยกระดับศักยภาพและความพร้อมในมิติต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องมีการทำงานที่สอดประสานกันทั้งในระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการควบคู่กันไป”

โดยคุณเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับขีดจำกัดของโลกว่า ปัจจุบันกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์ได้กระตุ้นให้เกิดการละเมิดขีดจำกัดนี้ไปแล้วอย่างน้อย 6 ด้านจากทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ (1) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (2) การสร้างมลภาวะที่เกิดจากธาตุอาหารพืชโดยเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่มากเกินไป (3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางบกโดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ (5) การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรน้ำจืด และ (6) มลภาวะจากสารเคมีและสิ่งที่ผลิตจากมนุษย์ เช่น ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช สารเคมีทางอุตสาหกรรม และไมโครพลาสติก

“โครงการ CCMB ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่มีความเชื่อมโยงกัน พร้อมเปิดโอกาสให้หลายหน่วยงานในไทยได้ร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำงานร่วมกันในโครงการนี้จะนำไปสู่การพัฒนากรอบนโยบาย และเครื่องมือขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาด้านทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่ยั่งยืน พร้อมพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้นเช่นกัน” คุณเถลิงศักดิ์กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อสำคัญ ได้แก่ “นโยบายไทยในวาระโลก: มุมมองของการมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Decarbonisation) การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) และการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ (Nature Positive Development)” โดยรองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว

กิจกรรม TED Talk หัวข้อ “มุมมองผู้เชี่ยวชาญในการมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ” โดย รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณศุภกร ชินวรรโณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วิชิน สืบปาละ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

และปิดท้ายด้วยการเสวนาในหัวข้อ “การเดินทางเพื่อขับเคลื่อนสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ” โดยคุณสุวิทย์ นะวะคำ จากสถาบันปลูกป่าและนิเวศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณชุตินันท์ โมรา ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำระดับเอเชีย และผู้ก่อตั้งเพจ Sea Slug Thailand และคุณกิตติคุณ ศักดิ์สูง ตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำภูมิภาคเอเชีย (GYBN Asia) ดำเนินรายการโดย ดร.เพชร มโนปวิตร นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย