เมื่อวันที่ 12 ก.พ. หนุ่มช่างแอร์รายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความลงในกลุ่ม นี่ตัวอะไร ถามผู้รู้ว่าคือตัวอะไร หลังเจ้าตัวเข้าไปล้างแอร์ในห้องของลูกค้า ความว่า บ้านพี่ๆ สมาชิกในกลุ่มเรียกว่าตัวอะไรครับ ขนลุกเลยครับอยู่ในแอร์ห้องนอนลูกค้า ทั้งนี้มีผู้เข้ามาตอบคำถามดังกล่าวจำนวนมาก โดยระบุว่า คือ ชันโรง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ให้ความรู้ว่า “ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว” (Stingless bee) เป็นแมลงสังคมขนาดเล็ก มีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรของพืชมาใช้เป็นอาหารเช่นเดียวกับผึ้ง จัดอยู่ใน Family Apidae เช่นเดียวกับผึ้ง แต่แตกต่างจากผึ้งที่ชันโรงไม่มีเหล็กใน จึงไม่สามารถต่อยศัตรูได้ ชันโรงจึงมีฟันกราม (mandible) ที่แข็งแรงใช้กัดศัตรูเพื่อต่อสู้ป้องกันรังแทน ชันโรงมีการแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันมีการสำรวจและรายงานการค้นพบชนิดชันโรงมากกว่า 400 ชนิด ใน 50 สกุลทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีการรายงานพบชนิดชันโรง 39 ชนิด แต่ละชนิดพบมีการกระจายตัวอยู่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และระดับความสูงของพื้นที่อาศัยจากระดับน้ำทะเล (สมนึกและอรุณรัตน์, 2549; จิตเกษม, 2533)

ชันโรง สามารถอาศัยอยู่ตามรอยแยก รอยแตกของชั้นหิน ต้นไม้ โพรงไม้ เสาไม้ กำแพงบ้านที่เป็นปูนหรืออิฐ ช่องว่างฝาบ้าน รวมไปถึงโพรงจอมปลวกหรือรังมดเก่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวน โดยสามารถแบ่งแยกที่อยู่อาศัยของชันโรงได้อย่างชัดเจนเป็น 2 แบบ คือ

โพรงในธรรมชาติโพรงเหล่านี้มักจะถูกพบเจอได้บ่อยครั้งในธรรมชาติ ในป่า เขตชุมชน วัด โรงเรียน และพื้นที่ทำการเกษตร

โพรงเทียม สิ่งปลูกสร้าง หรือกล่องเลี้ยงรูปแบบต่างๆ ที่สร้างโดยมนุษย์ มักพบเจอชันโรงมาอาศัยอยู่ตามรอยแตกรอยแยกหรือโพรงช่องว่างของสิ่งก่อสร้าง อาทิ กำแพงบ้าน เสาบ้าน ทั้งที่สร้างจากเนื้อปูนซีเมนต์หรือไม้หรือเหล็ก รวมไปถึงท่อน้ำ ท่อเหล็ก กล่องต่างๆ

ชันโรงสร้างปากทางเข้ารังด้วยไขผสมยางไม้และกรวดหรือดิน โดยมีชันโรงงานคอยเฝ้าป้องกันศัตรูเข้ารัง เราสามารถพบรังชันโรงได้ทั้งในที่โล่งแจ้ง โพรงที่อยู่บนดิน เช่น โพรงต้นไม้ ตามรอยแตกแยกของหิน และโพรงใต้ดิน เช่น โพรงในรังปลวกหรือรังมด โดยมีลักษณะปากทางเข้ารังอยู่ 2 แบบ คือ รูปท่อ และรูปแตร

อย่างไรก็ตามมีชันโรงที่สามารถเลี้ยงในลังหรือโก๋นและให้ผลผลิตน้ำผึ้งในประเทศไทย 3 ชนิด คือ ชันโรงขนเงิน (Tetragonula pegdeni) ชันโรงถ้วยดำ (Trigona laeviceps) และชันโรงปากแตรใหญ่ (Lepidotrigona terminata) นอกจากนี้การเลี้ยงชันโรงยังสามารถพัฒนาการเลี้ยงให้สามารถเลี้ยงได้ในแปลงพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ และกาแฟ ซึ่งนอกจากจะช่วยผสมเกสรให้แก่พืชแล้วชันโรงยังสามารถให้น้ำผึ้งเช่นเดียวกับผึ้ง ก่อให้เกิดรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงให้กับเกษตรกรได้