ภายหลัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ออกมายืนยันว่า คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ พิจารณาหลักเกณฑ์รายชื่อผู้ต้องขังทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์พักโทษแบบปกติ และพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษ ในจำนวน 945 รายชื่อว่า 1 ในรายชื่อดังกล่าวคือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อายุ 74 ปี เนื่องจากเข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงอายุ มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และที่สำคัญได้เข้าสู่กระบวนการรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน จึงเข้าเงื่อนไขพิจารณาพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

ดังนั้น หากนับจากระยะเวลาที่ทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในคดีค้างเก่า ได้แก่ 1.คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ หวยบนดิน และ 3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลเมียนมา รวมโทษจำคุก 8 ปี ก่อนที่ต่อมาจะได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือจำคุกเพียง 1 ปี หลังเข้าสู่กระบวนรับโทษของราชทัณฑ์เพียงครึ่งวัน ทักษิณมีอาการป่วยกำเริบถูกส่งตัวเข้ารักษาที่ รพ.ตำรวจ และรักษาตัวต่อเนื่องบนชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอาการเจ็บป่วย 4 โรครุมเร้าที่ศักยภาพการรักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังไม่เพียงพอ ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พังผืดในปอด ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อม

จากกลางดึกวันแรกที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ จนวินาทีนี้ที่ถือห้วงเวลารับโทษถือเป็น 1 ใน 3 ของโทษตามหมายแจ้ง และจะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ. นี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” พาย้อนเหตุการณ์จังหวะสำคัญ ตั้งแต่นาที “ทักษิณ” แลนดิ้ง MJets ดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 จนถึงปัจจุบัน ลุ้นจุดหมายปลายทางพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า หรือไม่?

•22 ส.ค. 66 ทักษิณ กลับเข้าประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเจ็ต Gulfstream รุ่น G 650(Business Jets) จากสนามบินสิงคโปร์ มายังอาคารไพรเวท เจ็ต (MJets) ท่าอากาศยานดอนเมือง มีจังหวะปรากฏตัวให้สื่อมวลชนและมวลชนที่มารอรับ ขณะเดินออกมาถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ด้านหน้าอาคาร จากนั้นเดินทางไปรับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สนามหลวง ก่อนถูกคุมตัวไปรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กระทั่งเวลา 00.30 น. ถูกย้ายตัวด่วนออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ เนื่องจากอาการป่วยกำเริบ และความดันขึ้นสูง

•28 ส.ค. 66 พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แจ้งขออายัดตัวทักษิณต่อกรมราชทัณฑ์ ในความผิดคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เหตุจากพฤติการณ์เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 58 ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน

•20 ก.ย. 66 ทักษิณรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ครบ 30 วัน กรมราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า จากรายงานความเห็นของแพทย์ ระบุเหตุความจำเป็นที่ต้องรับการรักษาตัวเกิน 30 วัน เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะได้เข้ารับการผ่าตัด และยังคงต้องรักษาตัวอยู่ต่อที่ รพ.

•13 ต.ค. 66 ปรากฏภาพถ่ายฮือฮาในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพบริเวณทางเดินตรงข้ามอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เป็นภาพการเคลื่อนย้ายทักษิณในชุดคนไข้สีฟ้า สวมหน้ากากอนามัยนอนอยู่บนเตียงเข็นผู้ป่วย อ้างว่าเป็นการนำตัวไปทำ CT Scan (ซีทีสแกน) และ MRI (เอ็มอาร์ไอ)

•21 ต.ค. 66 ทักษิณรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ครบ 60 วัน กรมราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจการรักษาเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ต่อ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการเจ็บป่วยได้ เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ อีกทั้งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

•23 ต.ค. 66 ทักษิณ ถูกนำตัวเข้ารับการผ่าตัด ณ ห้องผ่าตัดออร์โธปิดิกส์ รพ.ตำรวจ หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น ถูกนำตัวมาพักที่ห้องไอ ซี ยู ศัลยกรรมประสาท (Neurosurgical Intensive Care Unit : NICU) โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เป็นการผ่าตัดกระดูกหลายส่วน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เข้ารับการ CT SCAN – MRI และแพทย์เเนะนำว่าควรผ่าตัดด่วน และเมื่อเข้ารับการผ่าตัดแล้วก็ต้องนอนพักฟื้นรักษาตัวต่อไป

•เดือน ธ.ค. 66 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขึ้นไปตรวจสอบเกี่ยวกับการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ ที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ รพ.ตำรวจ เนื่องจากได้รับการร้องเรียน

•11 ม.ค. 67 ทักษิณ นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำที่ รพ.ตำรวจ เกินกว่า 120 วัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยพิจารณาจากความเห็นแพทย์ที่มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด วันที่ 8 ม.ค. 67 จึงพิจารณาเห็นชอบให้รักษาตัวต่อ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที

•12 ม.ค. 67 นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร นัดหมายผู้บริหาร รพ.ตำรวจ โดยมี พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ 7 ให้ข้อมูลพร้อมนำศึกษาดูงานและเยี่ยมชมการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่รักษาตัวอยู่ภายนอกเรือนจำฯ โดยนายชัยชนะ ไม่ได้เข้าไปพบตัว เพียงแค่พบว่าเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 2 นาย ตำรวจ สน.ปทุมวัน 3 นาย และตำรวจสันติบาล 3 นาย รวม 8 นาย ทั้งยังทราบข้อมูลจากหัวหน้าพยาบาลว่าทีมพยาบาลได้สลับเข้าไปคอยดูแลและให้การพยาบาล โดยทักษิณมีภาวะโรคหัวใจรั่ว และไม่ค่อยมีญาติมาเยี่ยมบ่อยนัก ทั้งยังพบว่ากล้องวงจรปิดทั้งชั้น 14 ไม่สามารถใช้งานได้

•17 ม.ค. 67 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้เดินทางเข้าพบทักษิณ ที่ รพ.ตำรวจ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหาและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

•6 ก.พ. 67 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันได้รับรายชื่อผู้ต้องขังทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษทั้งแบบปกติและแบบกรณีมีเหตุพิเศษ จำนวนกว่า 1,000 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติ ยอมรับว่าทักษิณเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ และมีอาการเจ็บป่วย ขณะที่วันเดียวกันสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าคดีทักษิณถูกกล่าวหากระทำผิดมาตรา 112 ว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานกิจการคดี พิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้น เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดมีความเห็นและมีคำสั่งทางคดี

•ล่าสุด 13 ก.พ. 67 ที่ ทำเนียบรัฐบาล รมว.ยุติธรรม ยืนยันชัดเจนทักษิณ มีชื่อเป็น 1 ใน 930 รายชื่อ ที่จะได้รับการพักโทษรอบต่อไป โดยเป็นไปตามเกณฑ์เพราะต้องโทษมาแล้ว 1 ใน 3 คือ 6 เดือน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายทักษิณ จะได้รับการปล่อยตัวพักโทษจาก รพ.ตำรวจ ในวันที่ 18 ก.พ. นี้ เลยหรือไม่นั้น ยังเป็นที่จับตาเนื่องจากในช่วงเที่ยงคืนของวันดีเดย์ ทักษิณสามารถออกจากการคุมขังในสถานที่คุมขัง เพื่อเข้าสู่การพักโทษได้ทันที และหน่วยงานที่จะมารับไม้ต่อจากกรมราชทัณฑ์คือกรมคุมประพฤติ ซึ่งเจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถดำเนินการเข้าพบและชี้แจงกระบวนการพักโทษได้ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ที่ได้พักโทษ เพื่อนัดหมายการรายงานตัวในครั้งถัดไป และส่วนใหญ่ผู้ได้รับการพักโทษ จะต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติทุกเดือน ส่วนจะมีการอายัดตัวในคดีความผิด มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ หลังการพักโทษหรือไม่ เป็นอำนาจและดุลพินิจของพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดี.