นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. นำร่องนำรถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) รวมทั้งได้ติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charge) สำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้าสมาชิก บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ทสภ. เพื่อมุ่งสู่ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบ (Green Airport) แห่งแรกในไทย ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ที่มุ่งผลักดันการคมนาคมขนส่งของไทย สู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 67 จะมีรถแท็กซี่ไฟฟ้าให้บริการที่ ทสภ. ประมาณ 1 พันคัน

นายกีรติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ (EV Taxi) นั้น ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงแรก ทอท. ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย โดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ทสภ. สำหรับรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ทสภ. อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ-ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ ทอท. ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ ขณะเดียวกัน ทอท. ยังมีโครงการติดตั้ง EV Charging Station ทั้งในพื้นที่ Airside, Landside และ Custom Free Zone รวม 7 จุด เพื่อรองรับแนวโน้มที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมในวงกว้าง ตามทิศทางที่ทั่วโลกหันมาสนใจการใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดอีกด้วย

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรถยนต์ 1 คัน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ตันต่อปี ซึ่งในประเทศไทยมีรถยนต์มากกว่า 10 ล้านคัน ในส่วนของ ทอท. ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ทสภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่การเป็น Green Airport ซึ่งในปี 67 ตั้งเป้าหมายว่า 6 สนามบิน ต้องทยอยเปลี่ยนมาใช้รถอีวีทุกแห่ง โดยเฉพาะที่ ทสภ. ซึ่งหากเปลี่ยนมาใช้เป็นรถ EV จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี.