เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์การนับระยะเวลาจำคุก 6 เดือน ที่จะเข้าเกณฑ์พักการลงโทษของนายทักษิณ ชินวัตร ความว่า

กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับประโยชน์จากการพักการลงโทษหลังจากได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 นั้น การนับระยะเวลาจำคุก 6 เดือน ต้องนับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคหนึ่ง คือ ให้เริ่มนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าไปด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง และตามมาตรา 22 ที่กำหนดให้โทษจำคุกเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

วันเริ่มต้นของการรับโทษจำคุกของนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษา โดยนับวันที่ 22 สิงหาคม เป็นหนึ่งวันเต็ม ไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ว่าจะมีจำนวนชั่วโมงเหลืออยู่เท่าใดในวันนั้น ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่กล่าวไป

ข้อกฎหมายสำคัญอยู่ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง ที่กำหนดให้ระยะเวลาที่คำนวณเป็นเดือน ให้นับ 30 วันเป็นหนึ่งเดือน เมื่อคำนวณระยะเวลาจำคุก 6 เดือน ตามมาตรา 21 วรรคสอง จึงเท่ากับนำเอาระยะเวลา 6 เดือน คูณด้วย 30 วัน (6 x 30) เท่ากับระยะเวลา 180 วัน

ดังนั้น เมื่อนับวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นวันเริ่มต้นของการรับโทษจำคุกของนายทักษิณ ชินวัตร จึงครบกำหนด 6 เดือน ที่นับระยะเวลาเท่ากับ 180 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 วันครบกำหนดรับโทษจำคุก 6 เดือน จึงตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 และทำให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับประโยชน์จากการพักการลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์การนับระยะเวลารับโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญาจึงมีความแตกต่างจากการนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ซึ่งหากเป็นการนับระยะเวลาเป็นเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ในกรณีนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 วรรคสอง จะครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น

แต่สำหรับการนับระยะเวลารับโทษจำคุกมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากการนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาดังที่กล่าวไปแล้ว.