เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่หอประชุมทิพย์ช้าง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 7 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายชนาธิป เสมแย้ม นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดลำปาง นางสาวสุดาทิพย์ มูลอ้าย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ นายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเมืองลำปาง นายยอดชาย ผ้าเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ลำปาง สุโขทัย พะเยา ลำพูน น่าน แพร่ เชียงราย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 150 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับรู้เรื่องราวที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์สำหรับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” และ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ที่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการไปช่วยกันทำให้เกิดการขยายผลสร้างความรับรู้เข้าใจประวัติศาสตร์ชาติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในทุกพื้นที่ ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 7 ทุกท่าน ณ ที่นี้ คือ ความหวังที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นต้นแบบการสืบสาน รักษา และต่อยอด ดังปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ ด้วยการมุ่งแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการทำความดีผ่านการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยไปสู่คนทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของราชการ ซึ่งสิ่งที่เรากำลังจะทำภายหลังสำเร็จการฝึกอบรมครั้งนี้นั้น ยังเป็นการร่วมกันสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา “LOVE CAMP” Leadership – Oneness – Volunteer – Expert หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “สมัยนี้คนไม่ค่อยชอบเรียนประวัติศาสตร์กัน คนไม่ค่อยคิดอะไรย้อนหลัง ไม่ได้สอนให้เป็นคนสมัยเก่าไดโนเสาร์อะไร แต่ความเป็นมา ความต่อเนื่อง… ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี”

ดังนั้น สิ่งจำเป็นที่เป็นรากฐานทำให้ผู้คนในชาติมีความรัก ความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น ความภาคภูมิใจในแผ่นดินบ้านเกิด คือ “ประวัติศาสตร์” เริ่มตั้งแต่ประวัติศาสตร์ครอบครัวที่จะทำให้ลูกหลานได้รู้รากเหง้าของวงศ์ตระกูล เป็นสิ่งที่จะบ่มเพาะให้เขามีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ทั้งคุณทวด คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า เมื่อลูกหลานรู้ชื่อของบรรพบุรุษ รู้คุณงามความดี เขาก็จะภาคภูมิใจและร่วมช่วยกันต่อยอดสิ่งที่ดีของครอบครัวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน อันจะขยายผลไปถึงการทำสิ่งที่ดีให้กับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติบ้านเมือง แต่ถึงกระนั้น ด้วยพลวัตของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการหลงลืม การไม่ใส่ใจในประวัติศาสตร์ทุกระดับ จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 ความว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย ….ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ….. ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ….. อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้จึงเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ตนได้มีโอกาสมาเป็นกำลังใจ มาเพิ่มพูนหนุนเสริม passion ของผู้เข้าฝึกอบรมทุกท่านว่า ท่าน คือ ทหารเสือพระราชา และทหารเสือสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ช่วยสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำให้ลูกหลานคนในชาติทุกเพศทุกวัยไม่ลืมประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ คือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อทำให้เราภาคภูมิใจว่าเรามีบรรพบุรุษที่เป็นวีรกษัตริย์ปกบ้านป้องเมือง ทำให้เรามีเอกราช มีแผ่นดินอยู่ถึงทุกวันนี้ ด้วยการช่วยกันเป็นจิตอาสา โดยไม่คำนึงถึงเครื่องแบบ ซึ่งคำว่า จิตอาสา คือ การทำหน้าที่เพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยการไปบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยในที่ประชุมกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ ที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในทุกการประชุม ครั้งละ 25-30 นาที ตลอดจนถึงช่วงเวลาลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในสถานศึกษา ห้องสมุดชุมชน พื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อทำให้พวกเราคนไทยไม่ลืมบุญคุณของบรรพบุรุษ ไม่ลืมรากเหง้าที่เรามีผืนแผ่นดินอยู่อาศัยได้ เพราะบรรพบุรุษเราเสียสละเลือดเนื้อชีวิต เพื่อดูแลรักษาแผ่นดินให้เรา เพราะพวกเราทุกคนมีเป้าหมายที่มารับรู้สิ่งดี ๆ แล้วกลับไปถ่ายทอดในพื้นที่ของเรา “ทุกคนถูกคาดหวังให้เป็นความหวังของประเทศชาติ” โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รับรู้และเป็นกำลังสำคัญในการหนุนเสริมบทบาทของทุกคนในการทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะประวัติศาสตร์จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนงานที่สำคัญ คือ แม้ว่าพวกเราจะมาจากคนละที่คนละแห่ง แต่หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จาก “ครู 3 ป.” คือ ครูป๊อด ครูปั๊ม และครูป้ายู ขอให้กลับไปที่จังหวัด ไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด ไปพบนายอำเภอ เพื่อนัดหมายทั้งหมู่คณะ ไปพูด ไปบอกเล่า ไปสร้างการรับรู้ ทั้งในที่ประชุม หอกระจายข่าว เสียงตามสาย และสื่อต่าง ๆ ด้วยการปลุกพลัง DNA ในสายโลหิต และย้ำกับตนเอง เชื่อมั่นตนเองโดยตลอดเวลาว่า เราคือ “ครูจิตอาสา” ผู้เสียสละความสุขส่วนตัว ทำหน้าที่พลเมืองดีของชาติ แสดงออกซึ่งน้ำใจ ความเสียสละในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งการดูแลถนนหนทาง วัดวาอาราม โรงเรียน สาธารณสมบัติของส่วนรวม เพื่อปลุกอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยการพูดคุย การบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ให้รู้ให้เห็นถึงความสำคัญ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนี้ ชีวิตเราจะมีความสุข ประชาชนจะมีกินมีใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขอให้ผู้ฝึกอบรมทุกท่านทำหน้าที่เป็น ทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระพันปีหลวง ผู้ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เป็นจิตอาสาบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ร่วมกับผู้คนในสังคม สร้างครู ข ให้มีจำนวนมาก เพื่อขยายผลองค์ความรู้อย่างทั่วถึง ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยมือของพวกเรา และเราก็จะมีความสุขที่ได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติอย่างดีที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ “เราต้องทำทันที” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย