เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 ก.พ. ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศยืนยันยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ได้ยินมาเหมือนกัน ก็เป็นสิทธิของท่าน แต่หน้าที่ของตนคือการอธิบายให้ฟังถึงความเดือดร้อนของประชาชน ความเป็นอิสระ และความที่เราไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ตนเชื่อว่าตนและผู้ว่าการ ธปท. มีความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน 

“ที่มีการเรียกร้องไป ผมคิดว่าผมมีเหตุผล และ 3 ข้อที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยไปไม่ได้ เรื่องของปิโตรเลียม เรื่องนักท่องเที่ยวจีน เรื่องอะไรต่อมิอะไร และเรื่องจับจ่ายใช้สอยที่งบประมาณยังไม่ลงมารวดเร็ว เรื่องเหล่านี้ผมเชื่อว่ามีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ให้จีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น ให้นักท่องเที่ยวจีนมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องค่าเดินทางแพง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็กำลังทำให้ค่าเดินทางถูกลง ทำให้มีเงินในกระเป๋าเยอะขึ้น สามารถจับจ่ายใช้สอยเยอะยิ่งขึ้น และในส่วนของงบประมาณเอง ทุกคนก็ทราบกันดีอยู่ว่าเราใช้นโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งตอนแรกคาดว่าจะใช้ได้เดือนพ.ค. แต่มีความเป็นไปได้มากว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนเม.ย. เรื่องนี้ทุกฝ่ายก็พยายามทำกันอยู่แล้ว” นายเศรษฐา กล่าว 

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ในเรื่องของประชาชนความเดือดร้อนเป็นเรื่องสำคัญ และที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. พูดออกมา 3 ข้อไม่มีเรื่องประชาชนเลย ผมอยากให้ท่านกลับไปคิดว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อน เราช่วยกันได้ ก็คงต้องพูดคุยกันต่อไป

เมื่อถามว่าในส่วนรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไปแล้วถึง 3 ครั้ง นายกฯ กล่าวว่า ตนก็จะทำครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ต่อไป แล้วดูว่าคนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราอยู่ในสังคมที่เจริญและพัฒนาแล้ว มีความเห็นต่างก็พูดคุยกันได้ ไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้ง หรือมีบรรยากาศที่ไม่ได้ทำงานร่วมกัน  แม้วันนี้จะยังไม่ได้รับการขานรับก็ยังต้องคุยต่อไป  และพยายามต่อไปใช้เหตุและผล  ตัวเลขการชี้นำของเศรษฐกิจต่างๆ ก็บ่งบอกอะไรหลายๆ อย่าง 

เมื่อถามต่อว่าผู้ว่าการ ธปท. เคยพูดตรงๆ ถึงเหตุผลหรือไม่ถึงเห็นต่าง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็อธิบายและพูดคุยกันไป เป็นเรื่องที่ตนคุยกับท่าน ซึ่งต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เมื่อถามว่า การที่ผู้ว่าการ ธปท. บอกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด จะส่งผลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน นายกฯ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว และคนที่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แล้วดอกเบี้ยค้างจ่ายไปอยู่ที่ไหน ก็ไปอยู่ที่หนี้ครัวเรือนก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

เมื่อถามย้ำว่าจำเป็นต้องจับเข่าคุยแบบจริงจังกับผู้ว่าการ ธปท. อีกครั้งหรือไม่ เนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังไม่สอดคล้องกัน นายกฯ กล่าวว่า ก็คงเป็นในลักษณะนั้น  ส่วนจะนัดเมื่อไหร่ ขอให้ถึงเวลาอันสมควร.