นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการนำเสนอต่อที่ประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ของการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 37  ถึงการดำเนินงานเพื่อพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารของประเทศไทยให้ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นธรรม  ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วน ในการปกป้อง ดูแล รักษาทรัพยากรดินและน้ำ ซึ่งเป็นรากฐานของกระบวนการผลิตอาหาร ระบบนิเวศ และสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ นอกจากนี้ มีการดำเนินโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาระบบบริหารข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการชลประทาน

นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังได้ดำเนินการโครงการนำร่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้สนับสนุนชาวนาด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา ในพื้นที่เขตชลประทานภาคกลาง ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสามารถปรับตัวจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้ขยายผลไปสู่โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ผ่านการลงทุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ที่มีมูลค่าถึง 38 ล้านยูโร หรือ 1,500 ล้านบาท พร้อมกับการลงทุนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญของประเทศไทย มีเป้าหมายเข้าถึงเกษตรกรที่ปลูกข้าวจำนวน 250,000 ราย

ประเทศไทยยังได้เริ่มโครงการพัฒนากระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืชเศรษฐกิจ (อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง) เพื่อพัฒนาบุคลากรของไทยให้เป็นผู้ตรวจประเมินรับรองคาร์บอนเครดิตและภายใต้กรอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยและเพื่อพัฒนามาตรฐานการจัดการทางด้านคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจดังกล่าว โดยประเทศไทยยินดีที่จะแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้กับประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อให้เป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร และมีระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อไป