เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางบุญทา ด้วงรอด อายุ 54 ปี และ นางน้ำ ด้วงรอด อายุ 75 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 15 ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ขณะเข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพัทลุง ถึงความไม่ชอบมาพากลของคดีที่โดนฟ้องยึดที่ดินขายทอดตลาด ทั้งที่ไม่เคยไปกู้หนี้ยืมสินจากใครมาก่อน โดยก่อนหน้ามี ช่วงต้นเดือน พ.ย. 66 มีเจ้าหน้าที่มาจากกรมบังคับคดี เข้ามาปิดป้ายบ้านเพื่อขายทอดตลาด อ้างว่าเจ้าของบ้านเป็นหนี้จำนวน 1.5 แสนบาท โดยเจ้าหนี้ผู้ฟ้องอยู่ กทม.

ทั้งนี้ นางบุญทา และ นางน้ำ ยืนยันว่าไม่เคยไปยืมเงินใครมาก่อน เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้วันละไม่เกิน 300 บาท ขนาดเงิน 1,000 บาท ยังยืมใครไม่ได้ ตอนนั่งรถมาร้องศูนย์ดำรงธรรม 80 บาท ยังเหลือเงินติดตัวตอนนี้เพียง 20 บาทเท่านั้น แล้วจะไปยืมเงิน 1.5 แสนบาทมาได้อย่างไร

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีระบุเพียงว่า ให้ไปคัดลอกข้อมูลจากศาล โดยฝ่ายตนก็ไม่ทราบว่าศาลตั้งอยู่ที่ไหน ได้แต่แจ้ง นายวิโรจน์ เหตุทอง ผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยเหลือดูเอกสารที่โดนฟ้อง หลังเกิดเหตุคิดอย่างเดียวว่า นี่เรากำลังจะไม่มีบ้านแล้วหรือ บ้านกำลังถูกยึดทั้งที่ไม่ได้กู้ยืมเงินจากใคร เอกสารที่ถูกฟ้อง ลายมือชื่อไม่ตรงกัน อายุก็ไม่ตรงกัน สัญญาเงินกู้มีการแก้ตัวเลข อีกทั้งการพิจารณาคดีพวกตนก็ไม่เคยได้รับหมายศาลแม้แต่ครั้งเดียว

“…จะสู้คดียังไง เงินก็ไม่มี เขาบอกให้จ้างทนายรื้อคดีใหม่ ทนายเรียก 10,000 บาท จะรื้อคดีให้ ตนพยายามหาเงินมาเกือบ 3 เดือน ยังไม่ได้เงินก้อนดังกล่าวเลย ไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว…” นางบุญทา กล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ เหตุทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 15 ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง กล่าวว่า ครอบครัวนางบุญทา เป็นครอบครัวที่ยากจน ทำงานหาเช้ากินค่ำ รับจ้างทั่วไป ได้เงินวันละ 200-300 บาทต่อวันเท่านั้น เป็นครอบครัวที่น่าสงสาร โดยตนสอบถามเจ้าตัวแล้ว พบว่าทางนางบุญทา บอกว่าไม่ได้ยืมเงินก้อนดังกล่าว และจากการตรวจสอบหลักฐานที่ถูกฟ้องพบว่า มีข้อพิรุธหลายอย่าง ทั้งชื่อ ทั้งอายุ ทั้งบ้านเลขที่ไม่มี ชื่อก็ไม่ตรงกัน

สำหรับคดีที่ฟ้องนั้นระบุว่า ในสัญญากู้ยืมเงิน นางบุญทา ได้กู้ยืมเงิน 3 ครั้ง จาก น.ส.เอ (นามสมมุติ) ครั้งแรก 60,000 บาท ครั้งที่สอง 60,000 บาท และ ครั้งที่ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 150,000 บาท โดยยอดเงินกู้ผ่าน “บัตรเครดิต” มอบหมายให้ นายบี (นามสมมุติ) ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีเพ่ง หมายเลขดำที่ ผบ. E330/2563 โจทก์อ้างศาล หนังสือเอกสารเงินกู้ หมายเลข จ.2 จ.3 จ.4 แต่ไม่มีเอกสารกู้เงินหมายเลข จ.1 จึงทำให้ นางบุญทา เกิดความสงสัย เนื่องจากไม่รู้จัก “บัตรเครดิต” และยืนยันไม่เคยทำบัตรเครดิตที่ว่ามาก่อน

ต่อมาสื่อมวลชนใน จ.พัทลุง ได้ช่วยกันติดต่อ ทนายธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือ ทนายพัช หรือ ทนายปากแดง ให้ช่วยเหลือเรื่องคดีนี้ ซึ่งทนายพัช รับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลังจากพิจารณาเรื่องราวพร้อมเอกสารต่าง ๆ แล้วระบุว่า คดีนี้เชื่อว่าเป็นการฟ้องผิดคน ดำเนินคดีผิดคนหรือยึดทรัพย์ผิดคนหรือไม่ หากเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายความ ไม่ตรวจสอบให้ดีว่าฟ้องลูกหนี้ถูกคนหรือไม่ ก็จะดำเนินคดีกับทนายผู้นั้น รวมไปถึงเรียกค่าเสียหายให้กับผู้ถูกฟ้อง รวมถึงเอาผิดมรรยาททนายด้วย

จากนั้น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ยังศาลจังหวัดพัทลุง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีการฟ้องผิดตัวผิดคนจากทางเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งก็ได้รับข้อมูลว่า พบความผิดปกติในเรื่องนี้จริง โดยศาลได้เรียกทนายผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ เข้าพบพูดคุยในคดีดังกล่าว เพื่อให้การช่วยเหลือ นางบุญทา ด้วงรอด ผู้ถูกฟ้องแล้ว เบื้องต้นจากการพูดคุย ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านที่ศาล เพื่อเบิกถอนคำแถลง โดย นางบุญทา ผู้ถูกฟ้อง เตรียมเดินทางมายังศาลพร้อมทนายในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.67) เพื่อขอคัดค้านคดีดังกล่าวที่ศาลจังหวัดพัทลุง