เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่หอประชุมอำเภอบางปะอิน (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) จ.พระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง โดยมีนางพุทธิพร พลอยผักแว่น ท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายมนตรี ยมนา นายกเทศมนตรีตำบลบางปะอิน หัวหน้าส่วนราชการฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ประชาชน เข้าร่วมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง โดยปัญหาขยะได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบทางสังคมดังที่ปรากฏในปัจจุบัน รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ตาม Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ซึ่งแนวทางการจัดการขยะชุมชน ตามแนวทางการสร้างวินัยคนในชาติสู่การจัดการที่ยั่งยืน ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง และนำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ ภายใต้หลักการ 3 R คือ Reduce Reuse Recycle หรือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่

นายมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันดำเนินการคือการคัดแยกขยะในครัวเรือน เทศบาลตำบลบางปะอิน ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ประกอบกับในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลบางปะอิน มีสถานที่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามจึงต้องสร้างความตระหนักให้คนในชุมชน ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่ให้เรียบร้อย สวยงามอยู่เสมอ จึงได้จัดทำโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล รณรงค์และขยายผล สู่การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการลดปริมาณขยะ โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คณะครูอาจารย์จากโรงเรียนในเขตเทศบาล เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง 120 คน ในการจัดอบรมครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากร โดยนายฐนยศ รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบางเดื่อ อ.เมือง จ.ปทุมธานี และคณะ มาบรรยายให้ความรู้และการทำกิจกรรมกลุ่ม การประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีปริมาณขยะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,100 ตัน มีการนำกลับมาใช้ใหม่ 280 ตัน มีการกำจัดขยะอย่างถูกต้องตามระบบ 450 ตัน และอีก 450 ตัน กำจัดผิดวิธี ซึ่งการกำจัดขยะแบบผิดวิธีทำให้เกิดขยะสะสมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 5.5 แสนตัน ดังนั้นจึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งโครงการธนาคารขยะในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักในการจัดการขยะในชุมชน ซึ่งในการดำเนินการจัดการขยะจะต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน ต้องให้ความสำคัญ โดยไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีภูมิทัศน์ที่สะอาดสวยงาม ประชาชนมีความสุข รองรับการเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สะอาดสวยงาม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนต่อไป