เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่ จำนวน 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2024 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ จะทยอยส่งมอบตั้งแต่ปี 70 ซึ่งยืนยันว่าการจัดหาดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ โดยขณะนี้ บริษัทฯ มีเงินเพียงพอที่จะจัดหาเครื่องบินได้ และหากดูจากสถานะทางการเงินในปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถซื้อเครื่องบินโดยจ่ายเงินสดได้เลย ซึ่งการจ่ายก็ไม่ได้จ่ายทันที แต่จะจ่ายก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบเครื่องบิน โดยการจ่ายเงินสดไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะสายการบินตะวันออกกลาง ก็ซื้อเครื่องบินด้วยเงินสด

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานปี 66 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 161,067 ล้านบาท เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% โดยรายได้ดังกล่าวคิดเป็น 87% ของรายได้ในปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 จากรายได้ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบหลายปี โดยนานมากจนจำไม่ได้ว่ากี่ปี สำหรับกำไรทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการดำเนินงาน ไม่ใช่การขายทรัพย์สินของบริษัทฯ ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ในปี 67 จะเติบโตเท่ากับรายได้ในปี 62 และจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 68

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า ข้อตกลงในการจัดหาเครื่องบิน 45 ลำ และสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2024 เป็นการจองการผลิต ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะดำเนินการจัดหาในรูปแบบใด อาทิ เช่าซื้อ, เช่าดำเนินการ และซื้อด้วยเงินสดเป็นต้น เนื่องจากต้องจ่ายก็ต่อเมื่อจะรับมอบเครื่องบิน จึงยังมีเวลาประเมินสถานการณ์ว่าควรจะใช้วิธีการใด เบื้องต้นจะให้ได้ข้อสรุปภายในปี 68 โดยยอมรับว่า วิธีการจ่ายเงินสดเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทฯ มีเครื่องบินประจำฝูงบิน 70 ลำ ในปี 67 จะรับเพิ่ม 9 ลำ รวมเป็น 79 ลำ แบ่งเป็น แอร์บัส A350 จำนวน 6 ลำ, โบอิ้ง787 จำนวน 1 ลำ และแอร์บัส A330 จำนวน 2 ลำ

นายชาย กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินดำเนินการอย่างโปร่งใส และไม่มีภาระที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบในการจัดหาเครื่องบิน รวมทั้งไม่ต้องมาค้ำประกัน และไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชนมาจัดหาเครื่องบินด้วย ซึ่งอยากให้ทุกคนเข้าใจ บริษัทฯ จะได้พ้นคำครหาเสียที เพราะการจัดหาเครื่องบินใช้รายได้ของบริษัทฯ ที่มาจากผลการดำเนินงานที่เป็นความร่วมมือร่วมใจของพนักงานการบินไทยทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชน และเงินของรัฐแต่อย่างใด ซึ่งภาครัฐได้เคยเพิ่มทุนในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา 7,500 ล้านบาท หลังจากนั้นไม่มีเงินของรัฐเข้ามาอีกเลย แม้กระทั่งช่วงเกิดโควิด-19 ก็ไม่ได้มีเงินของรัฐเข้ามาสนับสนุนแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทฯ สามารถพลิกฟื้นด้วยการทำธุรกิจการบินจริงๆ

นายชาย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 70 ลำ แบ่งเป็น แบบลำตัวกว้าง 50 ลำ และลำตัวแคบ 20 ลำ โดยในตารางการบินฤดูร้อนปี 67 หรือประมาณเดือน เม.ย. 67 จะให้บริการเที่ยวบินสู่ 61 เส้นทางบินทั่วโลก ในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ และเพิ่มจุดบินใหม่ 4 เส้นทาง ได้แก่ ออสโล (นอร์เวย์) มิลาน (อิตาลี) เพิร์ท (ออสเตรเลีย) และโคจิ (ญี่ปุ่น) เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป.