ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานเปิดงานการประชุม TRRN International Seminar on Railway Material Technology 2024 ในการประชุมดังกล่าวได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศจีน (THE World Rankings 2024) ได้แก่มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) และมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านระบบขนส่งทางรางจากประเทศจีน Beijing Jiaotong University (BJTU) มาให้การบรรยาย แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวัสดุในระบบรางทั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และที่กำลังคิดค้นวิจัยเพื่อการใช้งานในอนาคต ทั้งนี้ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศด้านระบบขนส่งทางรางมาร่วมการบรรยาย ได้แก่การบรรยายเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความแข็งแรงโครงสร้างโบกี้รถไฟที่ออกแบบให้น้ำนักเบาขึ้นโดยอ้างอิงมาตรฐานยุโรปโดยผู้เชี่ยวชาญจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การพัฒนาการประเมินประสิทธิภาพของตัวจับยึดรางรถไฟและผลกระทบจากการติดตั้งตำแหน่งไม่ถูกต้องของตัวยืดรางโดยผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) การการประเมินเชิงปริมาณแบบไม่ทำลาย (Nondestructive Evaluation) สำหรับชิ้นส่วนในระบบรถไฟและการพัฒนาเซนเซอร์แบบกระแสไหลวน Eddy current เพื่อใช้ในการตรวจสอบแบบไม่ทำลายโดยผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอโครงการวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมการกัดกร่อนของเหล็กกล้าแบบใหม่ที่ใช้ทำรางในความร่วมมือระหว่าง มจพ. มหาวิทยาลัยชิงหวา และมหาวิทยาลัย BJTU การศึกษาดังกล่าวเป็นพื้นฐานเพื่อช่วยทำความเข้าใจพฤติกรรมการกัดกร่อนของวัสดุเมื่อนำมาใช้ในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นประเทศไทย อันเป็นปัญหาเฉพาะที่ประเทศไทยควรสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ขึ้นเอง

การสัมมนานานาชาตินี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของเครือข่ายศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญระบบราง (Thailand Railway Research Network (TRRN) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรศักดิ์ ศรีสังสิทธิสันติ หัวหน้าโครงการฯ ได้นำเสนอข้อมูลว่าเครือข่าย TRRN ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกลุ่ม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และมหาวิทยาลัยเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศในการพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมระบบรางของไทย โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลนักวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ การทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการจัดทำมาตรฐานด้านระบบราง การส่งเสริมการทำวิจัยและการตีพิมพ์ร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่อไป