นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ร่วมกับ เอไอเอส ทำการทดสอบระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เซลล์ บรอดแคสต์ เซอร์วิส) แบบเฉพาะเจาะจงรายพื้นที่ เพื่อใช้แจ้งเตือนประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ โดยระบบถือว่ามีความพร้อม ซึ่งมั่นใจว่าภายในปีนี้จะสามารถเปิดใช้งานระบบได้ปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้หารือและตัดสินว่าจะให้หน่วยงานใดทำหน้าที่ศูนย์บัญชาการสั่งการเตือนภัย  จะเป็นกระทรวงดีอี  กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยต้องมีกี่ภาษา เพื่อใช้สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ในไทยด้วย  

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านเทคโนโลยี พัฒนาธุรกิจ และนโยบายภาครัฐ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณนั้น จะมีการนำเรื่องเสนอบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณา โดยในเบื้องต้นในส่วนของผู้ให้บริการมือถือ (โอเปอเรเตอร์) คาดว่าจะใช้งบประมาณรายละ 400 ล้านบาท ในระยะ 3 ปี โดยจะนำงบดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายตามจริงกับเงินที่ต้องนำส่งกองทุนยูโซ่ หลังจากปีที่ 3 เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง  ส่วนระบบซีบีอี ของภาครัฐ ที่จะเป็นระบบศูนย์สั่งการ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท โดยภาครัฐเสนอขอสนับสนุนจาก กสทช. ซึ่งต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดพิจารณา  อย่างไรก็ตาม การตั้งศูนย์สั่งการ คาดว่าจะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ ซึ่งหากออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีจะสามารถทำได้เร็วกว่าการให้กระทรวงออกเป็น พ.ร.ก.

ด้าน นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส  กล่าวว่า ระบบเตือนภัยใช้เทคโนโลยีเป็นมาตรฐานสากล ที่มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ที่สามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆ ในเวลาเดียวกัน  ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที  โดยล่าสุดระบบพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้แล้ว ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที  โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว

สำหรับโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)