กรมส่งเสริมการเกษตร ออกคำแนะนำเตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ระวังโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา และแพร่กระจายได้โดยลม น้ำ และฝน เนื่องจากเชื้อราสร้างสปอร์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำได้ และสร้างสปอร์ที่สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน เมื่อมีสภาวะแวดล้อมเหมาะสมก็สามารถงอกเส้นใยเข้าทำลายพืชได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ในช่วงนี้ที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงและมีฝนฟ้าคะนอง จึงเหมาะต่อการระบาดของโรค

ลักษณะอาการของโรครากเน่าโคนเน่า ในกรณีที่เกิดบริเวณราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีด ไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก จะพบรากฝอยแสดงอาการเน่ามีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย

หากเกิดในบริเวณกิ่ง หรือลำต้น หรือโคนต้น ระยะแรกจะแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นอาจเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลออกมาจากบริเวณแผล และจะค่อย ๆ แห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย

ส่วนกรณีที่พบบริเวณใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลือง บริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

การหมั่นสังเกตสำรวจแปลงปลูกทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล และการไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ แต่ทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้งจะช่วยให้สามารถป้องกันการลุกลามของโรครากเน่าโคนเน่าได้ หากเกษตรกรประสบปัญหาแล้ว สามารถใช้สารเคมีเข้าช่วยในการรักษาได้ ดังนี้

1. การใช้เมทาแลกซิล 25% WP หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ป้องกันกำจัดโรคพืช โดยฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 2. หากพบว่าต้นไหนที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงา หรือใบเหลืองหลุดร่วง แนะนำให้ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

3. หากพบอาการของโรคบริเวณกิ่ง หรือที่โคนต้น ให้ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยฟอสอีทิลอะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 80-100 กรัม หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค