เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่บ้านดงเรือง หมู่ที่ 6 ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี นายกองเอก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ให้กำลังใจการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ว่าที่ร้อยตรี รักชัย เลิศสุบิน ปลัดจังหวัดอุดรธานี นายกฤต อรรคศรีวร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุดรธานี นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายภควัตร คำพวง พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี ร่วมลงพื้นที่ โดยได้รับเมตตาจาก พระอาจารย์ศิริชัย สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสำราญ บ้านดงเรือง ผู้นำภาคีเครือข่ายภาคศาสนา ร่วมให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นายสมศักดิ์ แสนอินทร์ นายอำเภอหนองหาน ปลัดอำเภอหนองหาน หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่อำเภอหนองหาน กำนันตำบลหนองเม็ก พร้อมด้วยนางบานเย็น องอาจ ผู้ใหญ่บ้านดงเรือง คณะกรรมการหมู่บ้าน และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ

นายกองเอก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ตนมีความตั้งใจในการเดินทางมาให้กำลังใจ เพราะหมู่บ้านดงเรืองแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว และรู้สึกดีใจที่ผู้นำหมู่บ้านตลอดจนพี่น้องประชาชนรู้จักเรียกตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง นับเนื่องแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ แสดงให้เห็นว่า คนมหาดไทยในพื้นที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ดังคำสอนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานไว้ว่า “ทำงานให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด”

“”บ้านเราจะดีก็เพราะมีผู้นำดี แต่บ้านจะดีจริงต้องมีลูกบ้าน มีพี่น้องประชาชนที่ดี บ้านดงเรืองเราโชคดีที่มีพระอาจารย์ศิริชัย สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสำราญ บ้านดงเรือง เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายศาสนา เป็นหลักชัยของหมู่บ้าน และมีผู้ใหญ่บานเย็น องอาจ เป็นผู้นำ และผู้ใหญ่บานเย็นก็โชคดีที่มีลูกบ้านที่ดี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอาจารย์ศิริชัย ท่านได้ตอบรับแสดงตนเป็นเสาหลักของบ้านเรา เผยแผ่หลักธรรมคำสอนทำให้ชาวบ้านทำความดี อบรมสั่งสอนเมตตาเป็นที่พึ่งให้กับพวกเรา และมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทีมงานคณะกรรมการหมู่บ้าน 7 ภาคีเครือข่าย และหัวหน้าคุ้มทั้ง 3 คุ้ม และจากรายงานของผู้ใหญ่บานเย็นทำให้ยิ่งสบายใจที่หมู่บ้านดงเรืองมีความสุข มีการพัฒนาตามตัวชี้วัดครบทุกด้าน” นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้แก่ตน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมการปกครอง) และนางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชนในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง) พร้อมทั้งพระราชทานพระดำรัสว่า เป็นหน้าที่ของคนมหาดไทยทำให้เกิด หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ในปีที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา วันที่ 8 มกราคม 2566 และในปีนี้ นับเป็นโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ได้ “อยู่ที่คน” ถ้าทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน ตำบลก็จะเป็นตำบลยั่งยืน ถ้าทุกตำบลเป็นตำบลยั่งยืน อำเภอก็จะเป็นอำเภอยั่งยืน ถ้าทุกอำเภอเป็นอำเภอยั่งยืนก็จะทำให้จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดยั่งยืน การที่หมู่บ้านยั่งยืน คนจะต้องมีชีวิตที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรือ “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ขยายผลทำให้ทุกครัวเรือนมีพืชผักสวนครัวไว้บริโภคดังเช่นบ้านดงเรืองแห่งนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด เพื่อให้เด็กให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เพราะไข่ขาวจะให้โปรตีนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของเด็กมีพัฒนาการที่ดีทุกเรื่อง ตลอดจนถึงในด้านสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้คนในหมู่บ้านเป็นมนุษย์ 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รู้จักการแยกขยะ มีการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อให้เกิดจุลินทรีย์ไปเป็นสารบำรุงดินบำรุงทรัพยากรต้นไม้ใบหญ้าในพื้นที่ พร้อมทั้งเสริมสร้างความมีจิตอาสา ด้วยการทำให้คณะกรรมการคุ้มบ้านในแต่ละคุ้มมีความเข้มแข็ง ทั้งการประกวดประขันคุ้มสะอาด คุ้มสวยงาม คุ้มน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ไม่มีผู้ติดยาเสพติด นอกจากนี้ ประชาชนมีความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร่วมงานประเพณีของหมู่บ้าน เป็นคนดีของสังคม มีบ่อน้ำตื้นในหมู่บ้าน เพื่อให้มีน้ำไว้อุปโภคบริโภคที่เพียงพอ เริ่มจากการขุดบ่อน้ำตื้นที่วัด เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน” นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า เพราะคนมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตั้งคนขึ้นเป็นทีมอำนวยการ ทีมบริหาร เพื่อกำกับติดตามให้กำลังใจทุกหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อ ทีมจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่หมู่บ้านยั่งยืนระดับจังหวัด และนายอำเภอเป็นผู้นำทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปลัดอำเภอประจำตำบล เป็นผู้นำทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยในทีมต้องประกอบด้วยทีมที่เป็นทางการ คือ ข้าราชการ และกลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ และทีมจิตอาสา คือ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ หมู่บ้านจึงจะดี และเป็นหมู่บ้านยั่งยืน

“ในเรื่อง Quick Win ด้านยาเสพติด ภายในเดือนมีนาคม 2567 นี้ ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอต้องทำให้สำเร็จ คือ 1) สำรวจหาคนที่มีอาการทางประสาทหรือคนจิตเภท ทั้งจากยาเสพติดและจากการดื่มเหล้า ภายในเดือนมีนาคม 2567 แล้วส่งทุกคนเข้าสู่โรงพยาบาลจิตเวช โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นผู้นำในการค้นหา 2) คนที่ติดยาเสพติดที่ยังไม่มีอาการทางจิต ให้พาเข้า “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” หรือค่ายฟื้นฟูชุมชน โดยมีหมอตรวจและจ่ายยา และบูรณาการภาคีเครือข่ายส่งเสริมกิจกรรมเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงไก่ไข่ การอบรมจริยธรรมคุณธรรม และ 3) ค้นหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด และจับกุมผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย” นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ ขอให้พวกเราช่วยกันเฉลิมพระเกียรติเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วยการทำ 2 ประการ คือ 1) อามิสบูชา ด้วยการจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ประดับธงทิว ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ทำพิธีกรรมถวายพระราชสดุดี ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีจอมราชา ตลอดจนถึงเพลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ และ 2) ปฏิบัติบูชา โดยเริ่มที่ครอบครัว ทำครอบครัวให้เป็นครอบครัวยั่งยืน บ้านเรือนมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคง ลูกหลานเป็นเด็กดี รู้จักทำบุญไหว้พระ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ต่อบรรพบุรุษ ต่อประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์ และในส่วนของส่วนรวม ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นจิตอาสา โดยอาจจัดการประกวดระบบคุ้มบ้าน อาทิ คุ้มสวยงาม คุ้มสะอาด คุ้มน่ารัก มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการทำบุญตักบาตร ทำมาหากิน ลูกหลานไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มีความสงบ ซึ่ง “การปฏิบัติบูชา” ถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันมุ่งมั่น ทำให้บ้านดงเรืองแห่งนี้ เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” อย่างแท้จริง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป

นายสมศักดิ์ แสนอินทร์ นายอำเภอหนองหาน กล่าวว่า อำเภอหนองหาน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในปีที่ผ่านมา จำนวนหมู่บ้านเป้าหมาย 12 หมู่บ้าน โดยมี 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน และขยายผลสู่โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี 2567 นี้ จำนวน 163 หมู่บ้าน สำหรับบ้านดงเรือง หมู่ที่ 6 ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน ได้ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านยั่งยืน ตามตัวชี้วัดหมู่บ้านยั่งยืน 8 ข้อ 16 กิจกรรม ได้แก่ 1. ที่อยู่อาศัย 2. ความมั่นคงทางอาหาร 3. ความสะอาด 4. ความสามัคคี 5. ความร่วมมือ 6. การปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7. ความมั่นคงปลอดภัย 8. การมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งบ้านดงเรืองได้สืบสานและต่อยอดการพัฒนาในด้านความมั่นคงทางอาหารได้อย่างโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นแบบอย่างที่ดีได้

ด้านนางบานเย็น องอาจ ผู้ใหญ่บ้านดงเรือง หมู่ที่ 6 ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า บ้านดงเรือง ชุมชนเข้มแข็ง แหล่งคุณธรรม นำชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 105 ไร่ แหล่งน้ำ 10 ไร่ จำนวนประชากร 788 คน 171 ครัวเรือน สภาพทางเศรษฐกิจ ประชาชนประกอบอาชีพทำนา ทำไร่อ้อย ทำสวน เลี้ยงโค กระบือ มีรายได้เฉลี่ย 74,880 บาท/คน/ปี สำหรับการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน 1. ด้านที่อยู่อาศัยของบ้านดงเรือง มีบ้านแข็งแรง ตลาดมีความมั่นคงทั้ง 171 หลังคาเรือน 2. ความมั่นคงทางอาหาร บ้านดงเรืองเข้าร่วมโครงการผักแปลงใหญ่ จึงเน้นปลูกผัก น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่และความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักปลอดสารพิษ มีตัวอย่างความสำเร็จ คือ ตั้งแต่ปี 2563 มีโควิด-19 แต่เราสามารถอยู่ได้ เพราะเรามีความมั่นคงด้านอาหาร  3. ทุกครัวเรือนมีความสะอาดของบ้านและดูแลความสะอาดในชุมชน 4. ด้านความสามัคคี เรามีความรักสามัคคี ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน 5. ความร่วมมือ เรามีการประชุมทุกเดือน 6. ด้านปฏิบัติทางศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และความจงรักภักดี โดยมีประเพณี ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นประเพณีสำคัญทางศาสนา เราไปรวมตัวกันที่วัด 7. ด้านความมั่นคงปลอดภัย เรามีการลาดตระเวนในหมู่บ้านและสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงในงานบุญประเพณีมีการรักษาความปลอดภัย และ 8. ด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เรามีน้ำเพียงพอในทุกครัวเรือน