จากกรณีชายหนุ่มข้องใจ ดื่มเบียร์หน้าร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ถูกเขียนใบสั่งปรับข้อหาดื่มสุราในที่สาธารณะ 1,000 บาท ซึ่งตำรวจชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับเขียนตกหล่น ต้องเป็นดื่มสุราบนรถในที่สาธารณะ ซึ่งเจ้าตัวนั่งดื่มเบียร์อยู่ท้ายรถปิกอัพ แต่จอดรถที่บริเวณด้านหน้าร้านสะดวกซื้อ ในที่จอดรถของร้าน ไม่ได้จอดบนถนน

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในเรื่องของกฎหมายห้ามดื่มในที่สาธารณะ เดิมจะมีการห้ามจำหน่ายและดื่มในปั๊มน้ำมัน เพราะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ต่อมามีการขยายเพื่อป้องกันการดื่มในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีเรื่องของการห้ามดื่มบนทางเดินรถ ช่องเดินรถ ไหล่ทาง หรือลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร ในขณะขับขี่หรือโดยสารในรถหรือบนรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับหรือผู้โดยสาร ซึ่งกรณีนี้ ก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูลดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นการดื่มขณะอยู่บนรถหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีรถที่จอดอยู่ในพื้นที่หน้าร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชน กฎหมายจะครอบคลุมด้วยหรือไม่ รวมถึงทุกวันนี้มีการซื้อออกมาแล้วยืนหรือนั่งดื่มบริเวณหน้าร้านทันที เข้าข่ายดื่มในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ นายธีระ กล่าวว่า หากเป็นประเทศสิงคโปร์ พื้นที่ที่มีการใช้ร่วมกันทั้งหมด จะถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ มีการออกประกาศห้ามดื่มทั้งหมด แต่ประเทศไทยเรามีการออกประกาศห้ามดื่มพื้นที่สาธารณะเป็นจุดๆ เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน ซึ่งกรณีดังกล่าวกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ชัด

“หากจะให้มีความชัดเจนขึ้น ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย อย่างเรื่องใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภท 2 คือ ประเภทขายปลีก ที่รวมถึงการนั่งดื่มในร้านด้วย ซึ่งต้องแก้ไขกำหนดแยกประเภทให้ชัดว่า ขายปลีกคือซื้อแล้วต้องนำกลับไปบริโภคหรือดื่มที่อื่น เช่น ที่บ้าน ซึ่งต้องไม่ใช่บริเวณหน้าร้านหรือบริเวณโดยรอบร้าน กับใบอนุญาตที่ขายและนั่งดื่มในร้าน หากมีการกำหนดตรงนี้ ก็จะทำให้ชัดเจนขึ้นว่า ไม่สามารถดื่มหน้าร้านสะดวกซื้อได้” นายธีระ กล่าว.