ต่อมาเวลา 12.30 น. วันที่ 20 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เข้าสู่มาตรา 7 งบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ กมธ. เสียงข้างมากปรับลดงบประมาณเหลือ 24,124,617,500 บาท จากเดิมที่ได้งบ 24,834,743,400 บาท โดย สส. หลายคนอภิปรายขอให้ตัดงบประมาณในส่วนกองอำนวยการความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความซ้ำซ้อน และไม่มีผลงาน ขณะที่นายปรีดิ เจริญศิลป์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายปรับลดงบประมาณรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า เดิมนายกฯ มีรถประจำตำแหน่งอยู่แล้ว แต่ยังขอให้รัฐจัดหารถประจำตำแหน่งเพิ่มอีก 1 คัน ที่เป็นรุ่นเดียวกัน แต่คนละสี มีค่าเช่าเดือนละ 136,500 บาท หรือ 124 ล้านบาทต่อปี แม้มีรถประจำตำแหน่งอยู่แล้ว ยังขอตั้งค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งอีกปีละ 2.73 ล้านบาท อยากรู้เข้ากระเป๋าใคร ซ้ำซ้อนหรือไม่ ขอให้ยกเลิกรถประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนเหมาจ่าย แทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการระดับสูง รวมถึงยกเลิกงบฟุ่มเฟือยอย่างพรมทอมือขนแกะ 9 ผืน มูลค่า 10,557,200 บาท เพื่อปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล ขอให้นึกถึงประชาชน เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา อะไรที่อู้ฟู่หรูหราไม่จำเป็นควรตัดออก ขอให้นึกถึงคนไม่มีจะกินบ้าง เพราะเงินเหล่านี้คือภาษีประชาชน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ชี้แจงว่า ยืนยันว่า การทำงานของ กอ.รมน. ไม่มีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย ต่างจาก กอ.รมน. ที่เป็นฝ่ายอำนวยการไปสู่การปฏิบัติงานหน่วยงานอี่นๆ ส่วนการจ้างเหมาลำเครื่องบินจากภาคเอกชน 12 เดือน มูลค่า 190 ล้านบาทนั้น เป็นไปเพื่อใช้จ่ายในการขนส่งกำลังพลลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพลทหารจากกองทัพภาคต่างๆ ลงพื้นที่ จึงต้องจ้างเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์เอกชนขนส่งทหารลงพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และผลัดเปลี่ยนกำลังอย่างรวดเร็ว ขณะที่ข้อสงสัยเรื่องนายกรัฐมนตรีมีรถประจำตำแหน่งแล้ว เหตุใดยังมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งอีก ค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ใช่ของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นของบุคลากรในสำนักนายกรัฐมนตรี 17 ราย ส่วนงบพรมทอมือขนแกะ 10 ล้านบาทนั้น เป็นการใช้ในงานพระราชพิธี และงานสำคัญต่างๆ ที่ต้องเปิดห้องรองรับอาคันตุกะต่างแดนให้สมเกียรติ เป็นหน้าตาประเทศ ส่วนงบประมาณเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ใช้อย่างคุ้มค่า นายกฯ ไม่ได้เดินทางโดยใช้เฟิร์สคลาส มีการประหยัดงบประมาณในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเจรจาการค้า การลงทุน เพื่อประโยชน์ของประเทศ

จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบ มาตรา 7 ตามที่ กมธ. เสียงข้างมากแก้ไขมาด้วยคะแนน 292 ต่อ 169.