นายสันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนา ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ว่า โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่ไร้ระเบียบ ไม่ใช่แค่ผันผวน แต่โลกอยู่ในจุดหักมุม โดยมองว่ามี 3 ด้านที่กระทบเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ทั้งสงครามดุดัน แข่งขันดุเดือด และอาเซียนโดดเด่น ซึ่งในเรื่องสงครามมีหลายมิติ ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก่อน และสงครามเศรษฐกิจเริ่มรุนแรงขึ้น รวมทั้งการกีดกันการค้าต่างๆ ด้วย จากนักวิเคราะห์ในสหรัฐ คาดว่าถ้าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัยก็อาจทำให้สงครามดุดันมากกว่าเดิม

ส่วนการแข่งขันดุเดือดจะกระทบกับไทยหนัก ซึ่งจากเศรษฐกิจจีนกำลังซื้อไม่ดีนัก และจีนผลิตเก่ง ต้นทุนถูก ซึ่งผลิตออกมามาก ทำให้จีนต้องส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ถ้าหากขายในสหรัฐจะถูกกีดกันหรือไม่ จีนจึงเลือกขายในตลาดอาเซียน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นคือสินค้าจีนเข้ามาทะลัก ธุรกิจไทยถูกกระทบอย่างมาก ทั้งเฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น เคมีภัณฑ์ไทย ขณะที่เรื่องอาเซียนโดดเด่น จะเป็นภูมิภาคที่เปิดรับการลงทุนมาก โดยปัจจุบันไทยอยู่อันดับกลางๆ เป็นตัวประกอบ ซึ่งประเทศเด่นสุด คือ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ แต่หวังว่าในอนาคตไทยจะเด่นขึ้นมากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังเกิดการแข่งขันสงคราม 3 เรื่อง ทั้งสงครามเทคโลยี (เทคฯวอร์) สงครามสิ่งแวดล้อม (กรีนวอร์) และสงครามแย่งชิงคนเก่ง (ทาเลนท์วอร์) โดยเทคฯวอร์ เป็นการแข่งขันด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอหลายระดับ และมีการแข่งขันเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ส่วนเรื่องกรีนวอร์น่าสนใจ คือเรื่องความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อมที่จีนครองตลาด ด้านยุโรปมีการออกกฎกติกาออกมา เช่น ซีแบม อาจเป็นแม่แบบให้ประเทศอื่นทำต่อ ถ้าไทยผลิตคาร์บอนเยอะเกินไป ส่งออกไปเจอกำแพงภาษี มาตรฐานไม่ดีพอก็ปิดกั้นได้

ด้านสงครามแย่งชิงคนเก่งนั้น ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ขาดแคลนคน แม้มีเทคโนโลยีเอไอ แต่ยังต้องการปัญญาของคน ต้องการคนมีทักษะ ทำให้คนแย่งชิงกัน แต่มองเป็นความเสี่ยงและโอกาส หากเอไอมาแทนที่คน ซึ่งโจทย์ไทยคือแนวโน้มขาดคน และตัวเลขประชากรวัยแรงงานหดตัว อีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรหายไป 50% ซึ่งถ้าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ตอบโจทย์ได้

“ตอนนี้สงครามมี 2 ระดับ ยักษ์ใหญ่ตีกัน ด้านกรีนจีนผู้นำพลังงานสะอาด และอีวี ด้านทาเลนท์ หรือแย่งชิงคนทางประเทศสหรัฐมีการดึงดูดคนเข้าไปเยอะ แต่อยากให้ดูสงครามต้นกล้าด้วย อย่างประเทศเล็กๆ ไม่ได้ยักษ์ใหญ่ตีกัน บางครั้งต้นกล้าตาย หรืออยู่เช่นเดียวกัน”