อย่างไรก็ตาม!! การเดินหน้าโครงการ “เรือธง” ของรัฐบาลเพื่อไทย ครั้งนี้ มีกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย รวมถึงคำแนะนำเพื่อให้เป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือบรรดานักวิชาการ ต่างมีมุมมองที่สอดคล้องกันไป โดยเฉพาะการเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด…

แนะ 3 ทางช่วยเปราะบาง

เริ่มจากมุมมองของ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ที่มีข้อเสนอแนะใน 3 ประเด็นใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นอยากให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากหากยิ่งดำเนินการเร็วยิ่งดี ซึ่งการเลื่อนไปเป็นไตรมาสที่ 4 มองว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าไป หากเป็นไปได้ อยากให้เร่งจัดสรรงบประมาณปี 67 ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนก่อนแล้วค่อยให้กลุ่มที่เดือดร้อนน้อยที่เหลือตามมาทีหลังในระยะต่อไป ช่วยเร่งการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าที่รอไปในไตรมาส 4 และการใช้เงินในพื้นที่ จะเกิดเงินหมุนเวียนเร็วและหลายรอบ รอบแรก น่าจะใช้หมดภายใน 3-6 เดือน และรอบต่อไปหมุนเวียนในพื้นที่ ดังนั้นหากดำเนินการช้า แทนที่จะได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากถึง 1.5-2% ในปีนี้ อาจเหลือแค่เพิ่มเพียง 0.5%

ส่วนประเด็นการจัดทำแอปพลิเคชันใหม่ หรือซูเปอร์แอป หอการค้า เคยเสนอเรื่องการใช้แอปเป๋าตัง เพราะประชาชนคุ้นเคย

แซะ “ถูกต้อง-โปร่งใส”

หันมาที่ภาคเอกชนที่ต้องดูแลรับผิดชอบบรรดาเส้นเลือดใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมอย่าง “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่า การที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาวางแผนเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ การดำเนินงานดิจิทัลวอลเล็ต ต้องยึดแนวทางสำคัญของการดำเนินงานที่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย โปร่งใสอย่างมีธรรมาภิบาล มีแหล่งที่มางบประมาณอย่างพอเพียง และไม่สร้างภาระให้กับประเทศและประชาชนในระยะยาว รวมทั้งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการเติบโตได้อย่างชัดเจนไปพร้อมกัน

ขอกำหนดวงเงินต่อสินค้า

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการดำเนินการ ทั้งการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรกร และกลุ่มเปราะบาง โดยการกำหนดสัดส่วนการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกับประเภทสินค้าให้ชัดเจน และเร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการฐานรากก่อนออกมาตรการ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตในฐานะผู้ขายเพิ่มมากขึ้น

จับตาเงินหมุนแค่ไหน

เช่นเดียวกับ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในเมื่อรัฐบาลทำคลอดโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ออกมาแล้ว นั่นก็หมายความว่า จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั้น สามารถกระตุ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ ที่สำคัญสามารถกระตุ้นได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน ได้ครบทุกคนที่ควรจะได้หรือไม่ ครอบคลุมใครบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าการแจกเงินในครั้งนี้ ตรงกับผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นการกระตุ้นโดยรวมทั่วไป

จี้ประเมินโครงการ 3 ปี

ในเมื่อรัฐบาลต้องการเดินหน้าในโครงการเรือธงครั้งนี้ให้ได้ ก็ต้องมีการประเมินโครงการนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง 3 ปี โดยองค์กรวิจัยที่เป็นอิสระและมีความน่าเชื่อถือ ควรเริ่มหานักวิจัยมาติดตามผลเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะต้องดูผลกระทบระยะกลางถึงยาวด้วยว่า ไปเบียดงบประมาณในอนาคต แล้วส่งผลเสียต่อประเทศมากน้อยเพียงใด ให้เป็นบทเรียนในการดำเนินนโยบาย ในต่างประเทศมีตัวอย่างมากมาย ที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแล้วกระทบในระยะยาวจนเศรษฐกิจล้มเหลว เช่น อังกฤษ ตุรกี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมองว่ารัฐบาลควรลดขนาดของโครงการเป็นทางออกที่ดีที่สุด และไม่ต้องกลัวที่จะกู้เงินแบบตรงไปตรงมา

ด้านมุมมองของนักวิชาการอย่าง “นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ บอกว่า เหตุผลที่แท้จริงของการทำโครงการนี้ ชัดเจนว่าทำเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ให้ได้ฐานเสียงในการชนะการ
เลือกตั้งครั้งถัดไป และไม่มีอะไรดีไปกว่าการแจกเงิน จากทั้งปริมาณที่แจกเป็นวงกว้างถึง 50 ล้านคน และมุ่งเป้าที่คนอายุ 16 ปีขึ้นไป การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียงผลพลอยได้ระยะสั้น แม้รัฐบาลจะบอกว่ามีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ที่จะเพิ่มวงเงินให้ถึง 1 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ 5 แสนล้านบาท สะท้อนว่าเป้าหมายทางการเมืองชัดเจนกว่าเป้าหมายการทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งในระยะยาว

ทั้งหมด!! เป็นเพียงข้อเสนอแนะเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่า การออกนโยบายในแต่ละเรื่อง ก็ย่อมต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับ “ผลลัพธ์” ที่ออกมาว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไปทั้ง 5 แสนล้านบาทมากน้อยเพียงใด ตรงนี้…คือคำตอบ!!.

ทีมเศรษฐกิจ