เป็นบางช่วงตอน เล่าจากคู่รักสายรักษ์โลก “ท็อป-พิพัฒน์ และนุ่น-ศิรพันธ์” ร่วมปันประสบการณ์ แชร์ไอเดียส่งต่อการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกของเรา

เพราะเรื่องยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และไม่ใช่แค่กระแส หรือแค่เทรนด์ธุรกิจที่หยิบยกมาพูด แต่กำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างวิตกกังวล โดยภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่หลายมิติ ในงาน “Anniversary 60 ปี เดลินิวส์” ที่ผ่านมา ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ สยามพารากอน กรุงเทพฯ บนเวทีเสวนา “อยู่ ดี” ที่ชวนลงมือทำ ร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไป โดยคู่รักสายรักษ์โลก “ท็อป-นุ่น” ได้ถ่ายทอดไอเดียรักษ์โลกง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้

“ท็อป-พิพัฒน์” เล่าถึงจุดเปลี่ยน จุดเริ่มต้นสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจากภาพยนตร์ โดยในปี 2008 ได้ดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ในหนังยกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีถังอยู่ 2 ใบ ใบหนึ่งใส่นํ้าเดือด กับอีกใบหนึ่งใส่นํ้าที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และก็มีกบอยู่2 ตัว กบตัวแรกถูกปล่อยลงในถังนํ้าร้อนเดือด ซึ่งผลปรากฏว่า กบกระโดดหนี และกบอีกตัวถูกปล่อยลงไปในถังอีกใบที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นที่ละนิด สุดท้ายกบตัวที่สองตายแบบไม่รู้ตัว ก็เหมือนกับเราทุกวันนี้ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ทันทีทันใด อย่างโควิด ช่วงแรกอาจรอดยากจึงพยายามหาวิธีป้องกัน

“โลกร้อน หรือโลกเดือด หากยังไม่ตระหนัก อย่างที่ผ่านมาอากาศร้อนมาก แต่เมื่อเช้ามีฝนก็อาจทำให้เราชิลและหวังว่าฝนจะตกลงมาก็เหมือนกบตัวที่สองที่อยู่ในนํ้าอุ่นและอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเห็นตัวอย่าง เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เห็นถึงการเปรียบเทียบต่าง ๆ จึงทำให้หันมาสนใจและศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งมาถึงวันนี้ก็ 15 ปี”

ทางด้าน นุ่น-ศิรพันธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อ 15-16 ปีที่แล้วเรื่องโลกร้อนยังไม่ได้ถูกพูดถึงมาก ขณะที่คุณท็อปมาเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อม มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อทำงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วยกันเห็นชัดว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ต้องจริงจัง

อีโคไลฟ์ที่ทุกคนทำได้

คุณท็อป กล่าวอีกว่า แม้จะใช้ชีวิตแบบอีโคไลฟ์มา 15 ปีแต่ก็ยังมีกิเลส เป็นอีโคแบบมีกิเลส ซึ่งหมายความว่า เราไม่สามารถจะทำได้ 24 ชั่วโมง แต่เราก็เลือกที่จะทำได้ในสิ่งที่สามารถทำได้ อย่างในวันนี้เราไม่สามารถปั่นจักรยานมาได้ หรือว่าเดินมา เพราะเราทำไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้เช่น เรามีถุงผ้าเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้กระบอกนํ้าเพื่อลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือรับประทานอาหารแพลนต์เบสได้ในบางวัน ขณะที่บางวันก็อยากกินเนื้อสัตว์บ้าง

ถ้าเราลดการใช้ไฟ ปิดไฟ สุดท้ายปลายทางเราก็ได้ลดค่าไฟ เราประหยัดนํ้า สระผม โดยปิดนํ้า สุดท้ายปลายทางเราก็จ่ายค่านํ้าน้อย สิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ และเข้ากับไลฟ์สไตล์ ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ ก็ไม่เลือกที่จะทำ แต่สิ่งที่เราทำได้ ทำง่าย ทำได้ถี่ ๆ ทุกวันมันอาจดีกว่า ทั้งนี้บางทีเราเลือกทำเรื่องยาก ๆ สุดท้ายพบว่าไม่ใช่ ไม่น่าจะเหมาะ เสียดาย”

ทางด้านคุณนุ่น ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า ไม่ต้องทำเรื่องที่ยากเกินไป ทำสิ่งที่เป็นอยู่ อย่างเมื่อพูดถึงเรื่องถุงผ้า กระบอกนํ้าอาจเป็นเรื่องที่ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ในบางเรื่องที่สนใจ อย่างแฟชั่น ใส่เสื้อผ้ามือสองแบบวินเทจก็ถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำสิ่งที่มีนำกลับมาใช้ และใช้อย่างคุ้มค่า และอีกหลาย ๆ เรื่องก็เช่นกัน ทำได้

“ในเรื่องความยั่งยืน เมื่อก่อน กว่าจะอธิบายอีโค (ECO) อธิบายกันนาน แต่ยุคนี้ แค่พูดว่าถุงผ้าก็เป็นที่ทราบกันว่าจะสื่อสารอะไร กำลังพูดคุยในเรื่องใด การรับรู้ของคนยุคนี้เก่งมาก และเด็กเจนนี้มีเรื่องอีโคอยู่ใน DNA ของเขาและทุกอย่างสามารถผสมผสานเข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้หมด”

จากอีโค มาถึงคำว่า ‘sustainability’

sustainability คุณท็อปกล่าวอีกว่า แปลตรงตัวหมายถึง ความยั่งยืน ซึ่งหมายถึงสิ่งที่อยู่กับเรานาน ๆ อยู่กับเรายาว ๆ อย่างถ้าทุกคนมีโอกาสไปดำนํ้าคงไม่อยากเห็นถุงพลาสติก อยากเห็นปะการังสวย ๆ เห็นปลาน่ารัก ๆ หรือถ้าเข้าป่า คงอยากเห็นต้นไม้มากกว่า ดังนั้นถ้าอยากให้ธรรมชาติอยู่กับเรา ในรุ่นลูกรุ่นหลานเมื่อเติบโตขึ้นมาได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดี สิ่งนี้แหละคือความยั่งยืน และคงไม่อยากให้หายไป ก็ต้องช่วยกันในหลาย ๆ เรื่อง

ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ร่วมกันส่งต่อความยั่งยืน

โลกร้อนส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันไปหมด เป็นเรื่องที่เข้ามาในชีวิตประจำวันที่หลายคนมองเห็นแล้ว และเราจะช้าอยู่ทำไม วันนี้เราพูดถึงเรื่องความยั่งยืนและในเรื่องนี้จะถูกพูดถึงต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อเราอยู่บนโลกเดียวกัน ถ้าวันนี้ไม่สนใจอาจเป็นคนตกเทรนด์ ซึ่งน่าเสียดาย อยากฝากถึงเรื่องความยั่งยืนฝากถึงทุกคนร่วมกันเปลี่ยนแปลง หรือร่วมจอยกับเรา โดยเราทำแพลตฟอร์ม ECOLIFE ชวนทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“การสร้างความตระหนักรู้อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องทำให้เกิด action โดย 15 ปีที่ผ่านมาในเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงคือ การสื่อสารง่ายขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งเห็นการมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่รับรู้แต่สนใจอยากร่วมเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน อีกทั้งเห็นถึงกฎหมาย ข้อบังคับใช้ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ทำแล้วดี แต่จำเป็นต้องทำ และถ้าจะขับเคลื่อนไปได้ง่ายขึ้นต้องช่วยกันทั้งระบบ ร่วมกันทำเพื่อสร้างความยั่งยืน”.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]