เมื่อเวลา 11.25 น. วันที่ 2 พ.ย. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จำนวน 7 มาตรา ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว มีเนื้อหาปรับปรุงหลักเกณฑ์การขออนุญาตผลิตสุรา ให้ผู้ผลิตสุราหรือผู้ผลิตสุรารายย่อยขออนุญาตผลิตสุราได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

โดยมี ส.ส. อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 3 ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตผลิตสุราที่ กมธ. ไม่ให้กำหนดเรื่องกำลังการผลิต กำลังแรงม้า ทุนจดทะเบียน ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล รุมวิจารณ์การออกกฎกระทรวงอย่างเร่งด่วน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.65 เพราะไม่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พรรคก้าวไกล ผ่านวาระ 2-3 อีกทั้งการลดเงื่อนไขการผลิตสุราตามกฎกระทรวงไม่ใช่การปลดล็อกที่แท้จริง เพราะยังมีเงื่อนไขควบคุมผู้ประกอบ การรายย่อยมากมาย โดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. อภิปรายว่าร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นคนละฉบับกับกฎกระทรวง แม้กฎกระทรวงจะปลดล็อกเรื่องหนึ่ง แต่ไปล็อกอีกเรื่อง เช่น การให้โรงงานทำเบียร์ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น หากเป็นโรงผลิตเบียร์ขนาดเล็ก ในกฎกระทรวงไม่มีการปลดล็อกเรื่องกำลังแรงม้า กำลังการผลิตสุรา ต่างจากร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ เรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม แม้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่มีกฎหมายอื่นบังคับควบคุมอยู่แล้ว ขอให้ช่วยกันปลดโซ่ตรวนไปให้ได้

ส่วน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กฎกระทรวงที่ ครม. เพิ่งออกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เป็นแค่เปลี่ยนล็อกจาก “ล็อกเก่า” ไป “ล็อกใหม่” ยังมีการควบคุมการผลิตอยู่ มีปิศาจอยู่ในรายละเอียด บังคับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัท ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพผู้ประกอบการผลิตไทย วัตถุดิบ หรือทลายทุนผูกขาด เป็นกฎหมายหยุมหยิม อาจถูกขูดรีด ต่างจากเนื้อหา พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ปลดล็อกการผลิตสุราอย่างปลดปล่อยศักยภาพผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่จำกัดเรื่องกำลังแรงม้า กำลังการผลิต ป้องกันการถูกรีดไถ ยิ่งการขอผลิตสุราที่ต้องยื่นขออนุญาตเป็นเรื่องยากมาก เปิดดุลพินิจให้ราชการรีดไถประชาชน รัฐบาลอ้างกลัวเหล้าเถื่อน สิ่งที่เถื่อนไม่ใช่เหล้า แต่คือกฎหมายที่กระบวนการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ใช้รีดไถผู้ประกอบการที่พยายามสร้างวัฒนธรรมแปรรูปสินค้าเกษตร การให้การผลิตสุราอยู่ในไม่กี่ครอบครัวต่างหากเป็นเรื่องเถื่อน การโหวตครั้งนี้ อาจไม่มีความหมายกับ ส.ส. แต่มีความหมายกับผู้ประกอบการ เกษตรกร คนรุ่นใหม่ ที่สู้มานาน การโหวตครั้งนี้คือความหวังคนเหล่านี้ เป็นโค้งสุดท้ายที่จะมีความหวัง เรามาไกลเกินกว่าจะแพ้

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ. อภิปรายว่า แปลกใจที่ออกกฎกระทรวงเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในวันที่ 2 พ.ย. จุดประสงค์ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อยากให้ทิศทางเปิดเสรีสุรามีความเป็นธรรม ไม่ถูกผูกขาด จะไปหวังพึ่งเฉพาะกฎกระทรวงไม่ได้ ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ในวันพรุ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกหรือไม่ แทนที่จะออกเป็น พ.ร.บ.ที่มีความแน่นอนกว่า ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้เป็นการวัดใจ ส.ส.ว่าจะกดต้อยๆ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งมาหรือไม่ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่าน แสดงว่ายังมี ส.ส.เชื่อฟัง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ เรื่องนี้เป็นการวัดใจจะยืนข้างทุนผูกขาด หรือยืนข้างประชาชน ขอให้ประชาชนเช็กชื่อ ส.ส.ที่โหวตได้เลย เรื่องนี้ไม่ต้องรอรัฐบาลหน้าแล้วค่อยทำ ขอให้สมาชิกยืนข้างประชาชน

ขณะที่ นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนการออกกฎกระทรวงว่า ไม่ติดใจเนื้อหาในกฎกระทรวงที่ให้ขออนุญาตผลิต แต่เป็นห่วงการผลิตสุราที่ไม่ได้รับอนุญาต จะไม่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านมาการผลิตสุราไม่ชอบด้วยกฎหมายทำในบ้าน สกปรกไม่ได้มาตรฐาน ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านข้างเคียง จึงเห็นด้วยกับการขออนุญาตผลิตต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ส.ส.อภิปรายมาตรา 3 อย่างเข้มข้นนานร่วม 2 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบมาตรา 3 ด้วยคะแนน 178 ต่อ 4 งดออกเสียง 175 ไม่ลงคะแนน3 ขณะที่ มาตราอื่น อาทิ มาตรา 3/1 มาตรา 3/2 มาตรา 4 มาตรา 5 ก็มีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มีคะแนนงดออกเสียงใกล้เคียงกับคะแนนเห็นด้วย มีผลต่างห่างกันไม่เกิน 10 เสียง หลังจากที่ประชุมพิจารณาครบทั้ง 7 มาตราแล้ว กระทั่งเวลา 14.45 น. ที่ประชุมลงมติวาระ 3 ปรากฏว่า ที่ประชุมกลับมีมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ด้วยคะแนน 177 ต่อ 174 งดออกเสียง11 ไม่ลงคะแนน 4 โดยคะแนนงดออกเสียงในรายมาตรา พลิกกลับมาลงคะแนนไม่เห็นด้วย ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ขอใช้สิทธิตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 85 กรณีที่มีคะแนนต่างกันไม่เกิน 25 เสียง สามารถนับคะแนนใหม่ โดยการขานชื่อรายบุคคลได้ โดยมี ส.ส.ให้การรับรองถูกต้อง แต่นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ คัดค้าน ขอให้นับคะแนนใหม่ด้วยการเสียบบัตรลงคะแนนเท่านั้น แต่ฝ่ายค้านยืนยันตามข้อบังคับการประชุมตามข้อ 85 ต้องให้นับคะแนนใหม่โดยการขานชื่อเท่านั้น ในที่สุดนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ตัดสินให้นับคะแนนใหม่โดยการขานชื่อรายบุคคล แต่ยังเกิดความวุ่นวายตามมา เมื่อฝ่ายค้านให้นับองค์ประชุมก่อนการขานชื่อรายคน ระหว่างนั้น ส.ส.เริ่มเดินออกจากห้องประชุม มีทีท่าองค์ประชุมจะไม่ครบ จนนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สอบถามว่าขณะนี้ ส.ส.เดินออกจากห้องประชุม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ หมายความว่า การกลับมาโหวตใหม่ครั้งหน้า ต้องใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนนใหม่หรือไม่ ซึ่งนายสุชาติ ชี้แจงทันทีว่า สภาค้างคาเรื่องใดไว้ต้องกลับมาดำเนินการต่อ ไม่สามารถยกเลิกเรื่องใดได้ สุดท้ายเมื่อนับองค์ประชุมเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีองค์ประชุม 257 ครบองค์ประชุม

ผลปรากฎว่าการนับคะแนนใหม่แบบขานชื่อ มี ส.ส.เห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง