ในการเห็นชอบครั้งนี้ เป็นการการันตีว่ารัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อแน่นอน เหลือเพียงขั้นตอนเสนอให้ ครม. ไฟเขียว และลงรายละเอียดในวิธีปฏิบัติเท่านั้น ก็เริ่มแจกเงิน 10,000 บาท ได้ทันที… แต่โครงการนี้มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร? ต้องติดตาม!!

เข็นจนได้ “เงินดิจิทัล”

เริ่มจากที่มาที่ไปโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต เกิดขึ้นจาก 2 เหตุผลใหญ่ด้วยกัน ประเด็นแรก คือ…เรื่องการเมือง เนื่องจากโครงการนี้แจกเงินดิจิทัลฯ ถือเป็นนโยบาย “เรือธง” ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง แถมยังประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลกลางสภา อีกด้วย ดังนั้น!! จำเป็นต้องเดินหน้าทำออกมาให้ได้ เพื่อไม่ให้เสียเครดิตทางการเมือง

เหตุผลต่อมา… คือ ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ เพราะอย่างที่ทราบในข้อเท็จจริง และความรู้สึก เศรษฐกิจของไทยมีปัญหาจริง มีการเติบโตต่ำกว่าที่ควรเป็น หลุดเป้าหมายมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะหลังโควิดที่ทั่วโลกต่างฟื้นตัวแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังอมไข้ไม่หายโต 2% กว่า ดังนั้นในมุมมองของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องมีการฉีดยากระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ให้กลับมาลุกขึ้นเดินได้ เพราะลำพังการปล่อยให้เศรษฐกิจโตไปตามระบบ ด้วยการช่วยเหลือเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ไม่ได้ทำให้คนไทยลืมตาอ้าปาก แถมมีแต่จนลง เห็นได้จากปัญหาหนี้สิน ที่นับวันยังรุงรังพัลวันอย่างต่อเนื่อง

เงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิ

ดังนั้น รัฐบาลจึงคาดหวังว่า การแจกเงินดิจิทัลฯ จะช่วยปลุกเศรษฐกิจ เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน ทำให้จีดีพีประเทศโตได้ 1.2-1.8%

แนวทางการดำเนินโครงการฯ เบื้องต้นที่คณะกรรมการฯ สรุปออกมา ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่ได้รับเงิน 50 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 66 เกิน 840,000 บาท และไม่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกัน ณ เดือน มี.ค. 67 เกิน 500,000 บาท ส่วนช่วงเวลาการดำเนินโครงการ จะเปิดให้ประชาชน และร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 67 และเริ่มใช้จ่ายไตรมาส 4 ของปีนี้

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายแบ่งเป็น 2 ขยัก คือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชน 50 ล้านคน ที่ได้รับ 10,000 บาท กำหนดให้ใช้จ่ายได้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ระดับอำเภอ (878 อำเภอ) เท่านั้น จะใช้ข้ามเขตกับที่อยู่ของเราไม่ได้ ร้านค้าขนาดเล็กๆ อาทิ ร้านธงฟ้า ร้านโชห่วย หรือร้านสะดวกซื้อ ร้านตามปั๊มน้ำมัน มินิมาร์ท ซึ่งอาจหมายถึงร้านสะดวกแฟรนไชส์รายใหญ่อีกด้วยเช่นเดียวกับ ร้านอาหาร ขายเครื่องดื่ม ก็สามารถซื้อหาได้ แต่ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน และของออนไลน์ รวมถึงสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

ต่อมาเมื่อร้านค้ารายเล็กได้รับเงินจากการขายของให้ประชาชนแล้ว ไม่อนุญาตให้ถอนออกเป็นเงินสด แต่จะต้องนำเงินไปใช้จ่ายได้ต่อ แต่ไม่บังคับให้ใช้จ่ายในพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้าแล้ว คือหมายถึงว่า นำไปใช้จ่ายที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นไปซื้อในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ หรือร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว

“สาเหตุที่ต้องกำหนดวิธีการใช้จ่ายเงินแบบนี้ รัฐบาลต้องให้เกิดการใช้จ่ายเงินได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น แต่ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า”

เงื่อนไขถอนเป็นเงินสด

อย่างไรก็ตาม วิธีการให้ร้านค้าถอนเงินสด รัฐบาลกำหนดคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถนำเงินดิจิทัลไปถอนเป็นเงินได้ก็ต่อเมื่อเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี คือ 1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และ 3. ภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น อีกทั้งร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะสามารถถอนเงินสดได้ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

ขณะที่การจัดทำระบบใช้เงินและถอนเงิน เป็นหน้าที่ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นแอปที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว ให้เป็นซูเปอร์แอป สามารถใช้งานได้ทั้งลงทะเบียน รองรับการใช้จ่ายเงินกับธนาคารอื่นๆ ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเฉพาะแอปเป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทยอย่างเดียว ซึ่งในระยะยาวการใช้งานทั้งหมด จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลของรัฐบาล อีกทั้งรัฐเองยังสามารถเข้าไปดูแลตรวจสอบได้อีกด้วย

ที่มาของแหล่งเงิน

ส่วนประเด็นร้อนที่สังคมให้การจับตา คือ ที่มาของแหล่งเงินที่จะนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ซึ่งเรื่องนี้ทำเอารัฐบาลออกอาการเมาหมัดมานานหลายเดือน ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปแล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องไปกู้ ทำให้เกิดความเสี่ยง เพราะรัฐบาลเลือกใช้เงินจากระบบงบประมาณปกติ และมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง อย่างที่เคยทำมาในอดีต โดยกระจายเงินออกเป็น 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายกรอบงบประมาณ และงบชดเชยขาดดุลเพิ่มเติมไปตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ส่วนแหล่งเงินแหล่งต่อมาคือ การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเขย่างบประมาณของปี 67 ที่คาดว่าจะใช้ไม่หมด และนำมาทำเป็นงบผูกพันเพื่อใช้แจกเงินดิจิทัลแทน และสุดท้าย เป็นการนำมาจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท นั่นคือการยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาใช้ไปก่อน ในลักษณะของมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

ธ.ก.ส.ยอมรับกระสุน

เรื่องนี้ ธ.ก.ส. สามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้พอดี เพราะเงินที่นำไปแจก ผู้มีสิทธิส่วนหนึ่งกว่า 17 ล้านคนเป็นเกษตรกร และรูปแบบการยืมเงินของรัฐบาลก็คล้ายกับโครงการประกันรายได้ หรือไร่ละพันสมัยรัฐบาลลุงตู่ ที่ให้ ธ.ก.ส. ออกเงินจ่ายให้ไปก่อนเป็นแสนล้าน จากนั้นรัฐบาลก็ตั้งงบประมาณทยอยใช้คืนทีหลังแบบรายปี หรือเรียกว่าบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (พีเอสเอ) ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลสะสมอยู่กว่า 7 แสนล้านบาท หากมีการนำเงินดิจิทัลเข้าไปเพิ่ม ก็อาจทำให้หนี้ส่วนนี้ทะลุ 9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

การที่รัฐบาลเลือกเดินทางใช้แหล่งเงินจากช่องทางงบประมาณ แทนการออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ฎ.กู้เงิน รวมถึงยอมเลื่อนการแจกเงินจากเดือน เม.ย. ไปเป็นเดือน ต.ค.-พ.ย. ถือเป็นการเลือกเพลย์เซฟ ลดความเสี่ยงทางการคลัง ตลอดจนคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ เช่น มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง) ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องดำเนินนโยบายการคลังตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ไม่ซ้ำรอยจำนำข้าว

รวมถึงมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว หลังจากก่อนหน้านี้ มีหลายหน่วยงานออกมาเตือนคัดค้านกันกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะหากรัฐบาลยังดึงดันจะกู้เงิน โดยใช้อำนาจมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ทำได้แต่ต้องใช้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังถกไม่จบว่าทำได้หรือไม่ หรือประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤติจริงหรือเปล่า

ล้อมคอกป้องกันทุจริต

ขณะที่การป้องกันการทุจริต รัฐบาลได้กำหนดแนวทางชัดว่า การใช้เงินจ่ายเงินจะต้องมีสแกนหน้าทุกครั้ง เพื่อป้องกันการยืมโทรศัพท์ ไปสแกนใช้จ่าย หรือการรั่วไหลอื่น พร้อมกับมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เปิดจุดอ่อนข้อสงสัย

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะเลือกเดินในทางที่มีความเสี่ยงทางการคลังน้อย แต่โครงการแจกเงินดิจิทัล ก็ยังมีข้อสงสัยจากสังคมในอีกหลายประเด็นอยู่ เริ่มจากความเป็นธรรมของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ใช้ฐานภาษีเงินได้ไม่เกินปีละ 8.4 แสนบาท เป็นตัวตัดสิน

จึงเกิดคำถามว่า…หากคนที่ไม่อยู่ในระบบภาษี เช่น พ่อค้าแม่ค้า ขายของออนไลน์ที่มีรายได้มหาศาลปีละเป็นล้าน แต่ที่ผ่านมาหลบภาษีไม่เคยยื่นเลยจะได้สิทธิหรือไม่ แล้วคนดีๆ ที่ยื่นภาษี เสียภาษีทุกปีกลับถูกตัดสิทธิ รวมถึงคนที่พยายามเก็บหอมรอมริบ เงินเดือนมาทั้งชีวิต ฝากในบัญชีเพื่อใช้ในยามแก่เฒ่า ยามเจ็บป่วยแค่เกิน 5 แสนบาท คนเหล่านี้ก็เป็นคนที่ต้องถูกมองข้ามอีกครั้งใช่หรือไม่

แค่ทางผ่านเอื้อรายใหญ่

จุดต่อมาเรื่องการใช้จ่ายเงิน ที่มีเงื่อนไขให้ประชาชนใช้จ่ายได้เฉพาะในอำเภอที่มีที่อยู่ในภูมิลำเนา อาจเป็นอุปสรรคให้เงินไม่หมุนเวียนเท่าที่ควร เพราะเดิมรัฐบาลตั้งเป้าหมายจะให้เงินหมุนในระบบได้ 3-4 รอบ ใส่เงินสด 5 แสนล้านบาท ก็จะเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านล้านบาท แต่ทำไปทำมา วิธีให้ซื้อของร้านค้าขนาดเล็ก และให้ร้านขนาดเล็กไปซื้อของต่อกับร้านรายใหญ่ หรือรายกลางต่อ แล้วให้ร้านใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุน เจ้าของห้างสรรพสินค้า มีสิทธิถอนเป็นเงินสดออกมาได้เท่านั้น

จะกลายเป็นว่าประชาชน และร้านค้ารายเล็ก เป็นแค่ทางผ่านให้นำเงินก้อนใหญ่ 5 แสนล้านบาท เอื้อประโยชน์ไปเข้ากระเป๋านายทุนเท่านั้นหรือไม่ และเงินที่เทลงไปจะหมุนได้ 3-4 รอบ ตามเป้าหมายได้แค่ไหน เพราะแค่รอบที่ 2 นายทุน ร้านรายใหญ่ก็ถอนเป็นเงินสดเก็บเข้ากระเป๋ากันหมดแล้ว

การเข้าถึงเทคโนโลยี

ส่วนต่อมาในเรื่องวิธีการใช้จ่ายรัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี เพราะหากมีเงื่อนไขเยอะอาจทำให้เป็นอุปสรรคให้การใช้จ่ายไม่สำเร็จไปได้ เพราะขนาดแค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เปลี่ยนระบบมาใช้สแกนใบหน้า ก็ยังถูกด่าเช้าด่าเย็น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือผู้ป่วยติดเตียง เหล่านี้จะอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงได้อย่างไร

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงอีกอย่างคือความพร้อมของตัว ธ.ก.ส. ที่จะต้องหาเงินมากกว่า 1.7 แสนล้าน มาใช้ในโครงการนี้ เพราะปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. ที่นำเงินฝากมาหักลบกับเงินกู้ มีเหลือแค่ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หลังจากนี้อาจเห็นการระดมทุนครั้งใหญ่จาก ธ.ก.ส. ซึ่งอาจกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศ และสภาพคล่องในประเทศได้

ดังนั้น การที่รัฐบาลเดิมพันเทเงิน 5 แสนล้าน สำหรับแจก 50 ล้านคน เพื่อสนองนโยบายทางการเมือง จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ปลุกจีดีพีประเทศให้เติบโตเกิน 1.2-1.8% และช่วยกระจายให้ถึงมือรากหญ้า ได้จริงหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องทำการบ้านตอบสังคมให้ได้ต่อไป.

ทีมเศรษฐกิจ