หลังจากผมบอกพวกเค้าว่าผมเกษียณแล้ว ตอนนี้มาเป็นคอลัมนิสต์ของเดลินิวส์ Sustainable Daily เพื่อนชาวอเมริกันจึงถามว่า มีสำนักข่าวของประเทศไทยที่ทำข่าวและเรื่องราวเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างจริงจังด้วยหรือ พอเขาได้ยินว่เดลินิวส์เปิดหน้า Sustainable Daily มาปีนึงแล้ว ต่างแสดงความชื่นชมกันอย่างมาก เขาพยายามหาข้อมูลว่ามีสำนักข่าวใดทำเรื่องนี้บ้างในภูมิภาค และเอเชียมีข่าวความยั่งยืนในมิติใด มีความเคลื่อนไหวอย่างไรในแต่ละ Goal ซึ่งเขาแทบหาไม่เจอ ผมบอกเขาว่าหายากหน่อยครับ เพราะเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เขาจึงขอดู และแนะนำว่าน่าจะทำ 2 ภาษา ชาวต่างชาติจะหาข้อมูลง่ายไม่ต้อง Google Translate

เพื่อนชาวยุโรปถามต่อแบบรัว ๆ ว่า แล้วใครละเป็นผู้อ่าน Sustainable Daily ซึ่งเพื่อนชาวออสเตรเลียได้ช่วยตอบว่า น่าจะเป็น Gen S ที่เรามักจะเรียกพวกเขาว่า Generation Sustainability ผมจึงถามเพื่อน ๆ ที่มาจากทั่วโลกว่า Gen S คือใครกันแน่? เพราะไม่คุ้นเลย โดยเพื่อนชาวสแกนดิเนเวีย ขยายความให้ฟังว่า Gen S ไม่ได้ระบุด้วยปีเกิด แต่เป็นพฤติกรรมที่รักษ์โลก ไม่นิ่งเฉย ดูดาย ต่อสู้ขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเป็นคนส่วนใหญ่ของ Gen Z ที่เกิดปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 และ Gen Alpha ซึ่งเกิดหลังปี 2010 หรือช่วงที่กำลังก่อตัวเป้าหมายความยั่งยืน SDG พวกเขาถือเป็นประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 ตัวจริงที่สนใจความยั่งยืน เป็นกลุ่มที่กำลังขยายจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นก็มี Gen X ที่ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ของคนกลุ่มนี้ที่บางส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมรักษ์โลกตามลูก ๆ ของพวกเขา ลูกบอกว่าให้ช่วยแยกขยะด้วย ลูกชวนไปขายขยะ Recycle ชวนให้ใช้ถุงผ้า บอกให้ซื้อรถยนต์ EV ให้ติดแผงโซลาร์ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในบ้าน พอโดนพวกลูก ๆ บังคับให้ทำไปเรื่อย ๆ ก็ติดนิสัย กลายเป็นคนรักษ์โลก ค่อย ๆ กลายพันธ์ุ เป็น Gen S ไปทีละน้อย

ส่วนเหล่า Gen Y ซึ่งเป็นพี่ ๆ ของ Gen Z มักแตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ขอสะดวกสบาย ถ้าสะดวกสบายแล้ว รักษ์โลกด้วยก็ยินดี แต่ถ้าสะดวกสบายแล้ว ลำบากก็อาจจะไม่เอา แต่อีกกลุ่มหนึ่ง แม้จะเกิดในช่วงใกล้เคียงกัน ก็สนใจสิ่งแวดล้อมมาก พวกนี้จะใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ มากกว่านั่งแช่เล่นเกมหน้าคอม Gen Y นี้เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ง่ายนัก เพราะ Gen Z ที่เด็กกว่าจะสอนพี่ ๆ ก็ไม่ได้ และก็ไม่ค่อยฟังพ่อแม่ Gen X เช่นกัน อาจต้องใช้การขับเคลื่อนด้วยกระแสสังคมที่ทันสมัย เพราะ Gen Y ชอบลํ้า และนำกระแสเสมอ

และก็ยังมีพวก Baby-Boomer อย่างพวกเรา ที่ต่อสู้เรื่องความยั่งยืนมายาวนานตลอดชีวิต เพราะรู้ว่าต้องประหยัด อดออม พอเพียง เมื่อก่อนคงดูเป็นคนแปลก ๆ ที่ซื้ออะไรแต่ละทีก็จะต้องคิดถึงความคุ้มค่า ใช้ให้ได้ยาวนานหลายสิบปี ถ้าเสียก็มักจะซ่อมไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนเสียที เป็นคุณลุงคุณป้าที่ไม่รับขวดนํ้าพลาสติก ไม่ใช้หลอด ใช้ถุงกระดาษโชคดีมานานแล้ว ชอบเดิน ขี่จักรยาน ขึ้นรถเมล์ หรือใช้รถคันเล็ก ๆ ประหยัดนํ้ามัน ชอบถามว่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ใช้มาจากไหน ถ้ามาจากชาวบ้าน หรือชุมชนที่ด้อยโอกาสเป็นผู้ผลิต ก็จะสนับสนุนเป็นพิเศษ คน Gen Baby-Boomer นี้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมสูง มักเลือกลงทุนในบริษัทที่มี ESG หรืออยู่ใน DJSI คนกลุ่มนี้แม้มีกำลังซื้อ และมีคนเคารพเป็นบุคคลต้นแบบ แต่ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ

ดังนั้น จะเห็นว่า Gen S ไม่ได้นับจากปีเกิดแบบ Gen ทั่วไป แต่ดูตามพฤติกรรมรักษ์โลก สนใจเรื่องความยั่งยืน พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น สังเกตได้จากหลายคนติดเข็มกลัด SDG 17 สีเป็นสัญลักษณ์เป็นประจำ

เพื่อนคนจีนเสริมท้ายว่า ถ้าอย่างนั้น ผู้อ่าน Sustainable Daily ของเดลินิวส์ ก็เป็น Gen S นะสิ แล้วเพื่อน ๆ จากทั่วโลกก็เปล่งเสียงออกมาพร้อมกันว่า พวกเราขอเป็น Gen S…Gen Sustainability ด้วยนะ ว่าแล้วก็ยกโทรศัพท์ขึ้นมา กด Like กด Follow ใน FB Fanpage “Sustainable Daily” จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน และขอเชิญท่านผู้อ่านมาเป็น Gen S กับพวกเรานะครับ… และอย่าลืม กด Like ใน FB และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ของเดลินิวส์นะครับ.