เมื่อวันที่ 22 มี.ค. พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร)​ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)​ เจ้าคณะภาค 7 รองประธานอำนวยการโครงการฯ เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนโครงการ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยพระพรหมเสนาบดี กล่าวว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการฯ ที่ผ่านมาเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีโอกาสน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ที่ท่านได้ริเริ่มคิดค้นโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ขึ้นมา เพื่อให้ชาวไทยมีความรักสมัครสมานปรองดองสามัคคี ทำให้สังคมไทยเกิดความผาสุกโดยหัวใจคือศีล 5 และเมื่อได้ขับเคลื่อนไปแล้วก็ยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำให้ขับเคลื่อนเข้าไปสู่ตำบล และชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติ และประการสำคัญนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่อยากให้พี่น้องชาวไทยได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรังสรรค์ธรรมนาวา “วัง” ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยหลักธรรมให้พี่น้องชาวไทยได้ถือปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัย อริยสัจ 4 ซึ่งตนเคยปรารภกับปลัดกระทรวงมหาดไทยในการนำมาขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ให้เป็นหมู่บ้านศีลธรรมที่เข้มแข็งให้หยั่งรากลึกแก่พี่น้องชาวไทย ให้เกิดการประพฤติปฏิบัติก่อให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง

จากนั้นมีการชี้แจงแนวทางขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในปี 2567 โดย พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร)​ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เจ้าคณะภาค 14 ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง พระเทพเสนาบดี (ประเทือง อาภาธโร) เจ้าอาวาสวัดกวิศราราม เจ้าคณะ จ.ลพบุรี รองประธานคณะกรรมการบริหารกลาง พระศรีสมโพธิ (วรัญญู วรญฺญู)​ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ คณะกรรมการบริหารกลาง พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร)​ เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม คณะกรรมการบริหารกลาง พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รองผอ.วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี คณะกรรมการบริหารกลาง

พระธรรมวชิรานุวัตร กล่าวว่า คณะสงฆ์ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จวบจนปัจจุบัน ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการบริหารกลางร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับหน คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัด รวมถึงคณะสงฆ์ทุกจังหวัด หน่วยงานราชการ องค์กรภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ศีล 5 สู่ประชาชน รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านจิตใจให้มากขึ้น ตามหลักไตรสิกขา ธรรมแห่งการพัฒนาชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับหนได้มีการลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ในทุกจังหวัด และได้คัดเลือกหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ และสามารถเป็นต้นแบบในด้านการรักษาศีล 5 เพื่อยกย่อง และเชิดชูเกียรติเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบเป็นประจำทุกปี

ด้านพระมหาบุญเลิศ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกลาง ได้มอบให้ วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี จัดทำระบบฐานข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยจะให้แต่ละหมู่บ้านกว่า 70,000 แห่ง กรอกข้อมูล และกลายเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตรวจประเมินและการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป  ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนแนวทางการประเมินหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในปี 2567 จะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ จากเดิมที่แต่ละจังหวัดเลือกมาเพียง 1 หมู่บ้าน แล้วกรรมการขับเคลื่อนระดับหนลงไปประเมิน  แต่ในปีนี้ตามระเบียบ มส.ว่าด้วยการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 พ.ศ. 2565  คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับตำบลจะทำงานร่วมกับทุกหมู่บ้าน ก่อนคัดเลือกส่งมาสู่ระดับอำเภอ จากนั้นระดับจังหวัดจะคัดเลือกเหลือเพียงจังหวัดละ 1 หมู่บ้านเพื่อรับการประเมิน