เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวาระที่สำคัญคือ การรับทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการจากธนาคารโลก ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบรับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก จำนวน 1.1 ล้านดอลลาสหรัฐ หรือประมาณ 38.9 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการบริการจิตสังคมสำหรับผู้บอบช้ำทางจิตใจจากผลกระทบของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน โดยธนาคารโลก เคยให้ทุนแก่ สสส. ขับเคลื่อนงานนี้แล้วเมื่อปี 2566 จำนวน 3.5 ล้านบาท เพื่อเป็นโครงการต้นแบบในกลุ่มเป้าหมาย 38 คน ซึ่งธนาคารโลกได้มาติดตามผลแล้ว เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี จึงให้งบประมาณสนับสนุนมาขยายผลต่อ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าว เป็นการอบรมอาสาสมัครในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 120 คน ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2.นักจิตวิทยาในโรงเรียน 3.เอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและสตรี 4.เอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ต้องขัง ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ จะครอบคลุมผู้ได้รับการดูแลเด็กและครอบครัวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 2,400 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่าในปี 2547-2565 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 21,485 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,344 ราย บาดเจ็บ 13,641 ราย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงมาอย่างยาวนาน และจากการสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบว่าประชาชนในพื้นที่นี้มีความเครียดสูงมากกว่าคนทั่วไป 1.54 เท่า มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าคนทั่วไป 1.64 เท่า เสี่ยงฆ่าตัวตาย มากกว่าคนทั่วไป 1.24 เท่า แต่อัตราการเข้ารับบริการด้านจิตเวชภาครัฐ น้อยกว่าประชาชนทั่วไป 2.5 เท่า ทั้งที่มีบุคลากรทางด้านจิตเวชมากกว่าภาคอื่น

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนจึงสนับสนุนโครงการนี้ ที่เป็นกลไกสำคัญในการให้บริการด้านจิตสังคม โดยกลุ่มคนในชุมชนที่ได้รับความไว้วางใจให้แก้ไขปัญหาบาดแผลทางจิตใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กับสิ่งที่ตนกำลังเดินหน้าส่งเสริมอาชีพและแก้ปัญหาความยากจน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น