ดร.ดนันท์  สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดขนส่งในปีที่ผ่านมาถือว่ายังมีการเติบโตตามอานิสงส์ของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากการให้บริการกับตลาดต่าง ๆ รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยมีการเติบโต ทั้งด้านรายได้และปริมาณชิ้นงานขนส่งที่เพิ่มขึ้น ในปี 2566 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40% โดยมีกำไร 78.54 ล้านบาท

โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 19.35% โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจากการให้บริการที่ครอบคลุมผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม จุดให้บริการที่สะดวกง่ายต่อการเข้าถึง พัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นคุณภาพตลอดกระบวนการให้บริการ

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังเห็นโอกาสจากการให้บริการค้าปลีกและการเงิน จึงพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยในกลุ่มบริการนี้มีรายได้เติบโตขึ้น 34.26% ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ไปรษณีย์ไทยให้ความสำคัญและพร้อมต่อยอดโซลูชั่นการให้บริการที่มากขึ้นในปีนี้

โรดแม็พใน 3 ปี ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าเป็น Trusted Sustainable ASEAN Brand ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือแห่งอาเซียน โดยปี 2567 ได้ปรับวิสัยทัศน์เป็น ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ Delivering Sustainable Growth through Postal Network พร้อมวาง 10 ความโดดเด่นและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งเน้นคุณภาพ หลีกเลี่ยงสงครามราคา การปรับภาพจำของแนวทางการดำเนินงานแบบรัฐวิสาหกิจไปสู่เอกชน พร้อมพัฒนา Logistics Company ให้ก้าวสู่ Information Logistics Company ที่นำข้อมูลมาปรับปรุงต่อยอดบริการให้ตรงใจ รวมทั้งบูรณาการข้อมูลที่มีอยู่ให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน การยกระดับสัมพันธภาพที่ดีให้เป็นความเชื่อมั่น การขยายฟังก์ชันการทำงานของบุรุษไปรษณีย์ หรือ Postman สู่ Post–Gentleman as a service ที่พร้อมให้บริการในหลากหลายด้าน และปรับสนามการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดขนส่งโลจิสติกส์

ดร.ดนันท์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ วางไว้ที่ 22,802 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาทจากกลุ่มบริการหลัก ได้แก่ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการค้าปลีก บริการการเงิน และบริการคลังสินค้า เป้าหมายที่ตั้งไว้จะเกิดขึ้นได้จากทรัพยากรที่มีศักยภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ได้แก่ เครือข่ายไปรษณีย์ที่ครอบคลุมแล้วกว่า 30,000 แห่ง ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เปิดจุดให้บริการไปรษณีย์ไทย@ธงฟ้า ตั้งเป้า 20,000 แห่ง ภายในปี 2567 ด้วยบุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่กว่า 25,000 คน ที่สามารถให้บริการได้ตลอด 365 วัน

รวมถึงการเปิดศูนย์ไปรษณีย์สกลนครเพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณงานในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน การแสวงหารายได้ใหม่ที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็น บริการ Prompt Post ที่เตรียมเปิดให้ร่วมทายผลฟุตบอลยูโร 2024 บริการ e-Timestamp e-Signature e-Seal ส่งเสริมความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล (Digital Post Box) การใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น การสำรวจสินทรัพย์ การรับส่งสิ่งของแบบ On Demand การรุกขายสินค้าตัวท็อปใกล้ไกลบนแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ท นอกจากนี้ ยังมีสินค้า House Brand เช่น กาแฟ ข้าวสาร น้ำดื่ม  “ตราไปร” จากการคัดสรรสินค้าคุณภาพดีมานำเสนอให้กับผู้บริโภค

ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมในปี 2567 ธุรกิจไปรษณีย์-ขนส่งจะยิ่งทวีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหนึ่งในภาคบริการที่เชื่อมต่อกันทั้งเศรษฐกิจและสังคม ไปรษณีย์ไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างที่ตอบสนองความต้องการระยะยาว จากการเป็นผู้ที่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาด Niche Market ในการให้บริการขนส่งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น ผลไม้และผลผลิตเกษตร สิ่งของขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ยาและเวชภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารระวางการขนส่ง ลดต้นทุน เพิ่มความแม่นยำ ติดตามได้แบบเรียลไทม์ การเพิ่มประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะบริการที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า ทุกกลุ่ม บริการจัดส่งทุกวันไม่มีวันหยุด การปรับรูปแบบการจ่าหน้าให้เป็นดิจิทัล การให้บริการคลังสินค้าครบวงจร นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นบริการระหว่างประเทศ ด้วยการขนส่งสินค้าทางราง ทางอากาศ หรือ Cargo Mode บริการ Courier Lite และเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการให้กับลูกค้าให้สามารถใช้ช่องการชำระเงินค่าสินค้า–บริการผ่านแอปพลิเคชัน We Chat และ Ali Pay ที่จะเริ่มในไตรมาสที่ 2 ปีนี้

ทั้งนี้ ในปี 2566 ไปรษณีย์ไทยมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 45.56% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33.85% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.43% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96% และรายได้อื่น ๆ 1.30% และในปี 2567 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.12% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 32.48% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.98% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 5.10% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.90% และรายได้อื่น ๆ 1.42% ดร.ดนันท์ กล่าว