เมื่อวันที่ 25 มี.ค.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูผู้ช่วยสู่การเป็นครูมืออาชีพ ประจำปี2567” และบรรยายพิเศษ “การพัฒนาการเรียนรู้ Active Learning สู่สมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ให้แก่ครูผู้ช่วยในสังกัด สพม.กาญจนบุรี จำนวน 216 คน ณ หอประชุมกัลปพฤกษ์ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จ.กาญจนบุรี โดยมี ผอ.สพม.กาญจนบุรี ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1 ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 4 รอง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1 รอง ผอ.สพม.กาญจนบุรี อดีต ผอ.สพม.กาญจนบุรี ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัด สพม.กาญจนบุรี ร่วมรับฟังพร้อมผู้เข้ารับการอบรมด้วย
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ครูผู้ช่วยมีหน้าที่พัฒนาคุณภาพนักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) ในองค์ประกอบหลักที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางฯ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ประการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 8 ข้อ ซึ่งการจัดการเรียนการสอน Active Learning สิ่งสำคัญคือการให้เด็กได้คิด ลงมือปฏิบัติและสื่อสารได้ มีความเข้าใจตามแผนการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนกำหนดรายคาบนั้นๆ โดยสามารถจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน อาทิ การพานักเรียนลงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ พบเจอปราชญ์ชุมชน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดคำถาม เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่น นักเรียนได้รับองค์ความรู้ มีจิตสาธารณะ รักความเป็นไทย หรือการยกตัวอย่างความสำคัญของการเรียนรู้ในแต่ละวิชา เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพนำมาเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตประจำวันในสังคมได้ รวมถึงสื่อการเรียนรู้ เช่น เดอะไดอารี่ บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แอนิเมชัน 68 ตอน เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจสำหรับเด็กนักเรียน และกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ OBEC Youth Camp กิจกรรมเพื่อนที่ปรึกษา YC และกิจกรรม Hoppy & Happy เต้นให้สนุกและฝึกสติให้ใจมีพลัง เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการลดภาระนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ด้วยโครงการ “เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย” โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมต่อเนื่องร้อยเรียงเป็นซีรีส์เดียวกันมา ตั้งแต่การแนะแนว TGAT TPAT การให้ความรู้เทคนิคพิชิตข้อยาก A-Level และการแนะแนว “จับมือนักเรียนไว้แล้วไปด้วยกันกับครูแนะแนว และวิธีเลือกคณะที่ใช่ให้ตอบใจและตอบโจทย์” โดยติวเตอร์และบุคลากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพผู้เรียนสู่สากล เตรียมพร้อมรับการประเมิน PISA ด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะผู้เรียน ตามระดับของแต่ละช่วงวัย โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ในการเตรียมพร้อมพัฒนาเด็กให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ รักการอ่าน จับใจความได้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และพร้อมเข้าสู่การทดสอบ PISA 2025 ต่อไป
.
“ทั้งนี้ ขอฝากให้ครูผู้ช่วยทุกคนทำบันทึกหลังการสอนของนักเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและเติมเต็มในแต่ละด้านที่นักเรียนควรได้รับ และทำ PLC ร่วมกันในการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียน เพื่อดึงศักยภาพและพัฒนานักเรียนอย่างเต็มตามศักยภาพ เพราะนักเรียนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ การปลูกฝัง บ่มเพาะ ในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และการพานักเรียนไปให้ถึงเป้าหมายของหลักสูตรฯ เป็นบทบาทหน้าที่ ขอให้ครูผู้ช่วยทุกคน ก้าวไปสู่ครูมืออาชีพ ร่วมมือกันอย่างแข็งข้นในการยกระดับคุณภาพของนักเรียน ให้สูงขึ้นตามศักยภาพเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมยังได้ร่วมกิจกรรมตอบความคิดเห็น “แบบไหนที่ครูผู้ช่วยยุคใหม่…อยากได้” ซึ่งได้ร่วมกันตอบอย่างคึกคัก โดยในส่วนของ “ผู้บริหาร” ครูผู้ช่วยต้องการผู้นำที่รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา ทำงานร่วมกันกับครูแบบเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น แบ่งงานอย่างเป็นระบบ มีคุณธรรม ลงมือทำมากกว่าสั่ง เป็นต้น ส่วนทางด้าน “เพื่อนร่วมงาน” ครูผู้ช่วยต้องการเพื่อนร่วมงานที่จริงใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เอาเปรียบ สามารถแบ่งปันความรู้ รับฟัง ปรึกษาได้ทุกเรื่อง มีทีมเวิร์ก ไม่แบ่งพรรคพวก เป็นต้น และในส่วนของ “ตนเอง” ครูผู้ช่วยอยากเป็นครูที่ทำงานเก่ง เป็นผู้สอนที่ดี พัฒนาตนเองและเรียนรู้อยู่เสมอ สามารถบูรณาการสอนกับเพื่อนครู เก่งด้านเทคโนโลยี ให้ความช่วยเหลือคนอื่นได้ มีความสุข Work Life Balance เป็นต้น