นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า แผนงาน 5 ปี (67-71) จะใช้เงินลงทุนใน ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ทั้งหมด 89,203 ล้านบาท เบื้องต้นปี 67 นี้ ใช้เงินประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงไตรมาสแรกมีการลงทุน อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 ปัจจุบันเหลือก่อสร้างเพียง 2-3 กิโลเมตร โครงการซีพีเอฟของโรงกลั่นไทยออยล์ ขยายกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย 

“การลงทุนตลอด 5 ปีนี้ แยกเป็นกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็น 34%, ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท คิดเป็น 17%, ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท คิดเป็น 14%, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท คิดเป็น 4% และลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% จำนวน 27,822 ล้านบาท คิดเป็น 31%”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้พบว่า ขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายปัจจัยที่น่าจับตา ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุม, การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก, อุปทานจากกลุ่มนอน-โอเปก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดูไบปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความกังวลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อและในด้านซัพพลายจากกลุ่ม นอน-ออยล์ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จากสหรัฐ บราซิล อิหร่าน และเวเนซุเอลา

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับปี 66 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย อย่างไรก็ตาม กำไรดังกล่าวยังสูงกว่าปี 65 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท ประกอบกับ กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมีกำไรสัดส่วน 7% ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะธุรกิจน้ำมันพบว่า มีกำไรแค่เพียง 1% เท่านั้น