เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ สุวรรณศรี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ นายคณพ ปิ่นทอง ผอ.ส่วนสอบสวนการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 1 ร่วมกันเปิดเผยก่อนเข้าสอบปากคำ นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือ “มิกซ์” อายุ 25 ปี เป็นบุตรชายบุญธรรมของ นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ “เฮียเก้า” ผู้ต้องหาในคดีตีนไก่สวมสิทธิ หรือคดีพิเศษที่ 127/2566

โดย นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นายกรินทร์ มีหน้าที่ดำเนินธุรกิจต่างๆ แทน “เฮียเก้า” ทั้งยังมีหน้าที่ติดต่อในการนำตู้คอนเทเนอร์ ซึ่งบรรจุตีนไก่เข้ามาภายในราชอาณาจักรไทย และเมื่อนำเข้ามาแล้วจะนำไปผลิตที่บริษัทในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จากนั้นจะมีการส่งออร์เดอร์ไปที่ประเทศจีน และประเทศจีนก็จะจ่ายเงินกลับมา ซึ่งประเทศจีนมักสั่งซื้อไม่อั้นและจะมีการจ่ายเงินล่วงหน้า ลักษณะวนเป็นวัฏจักร นอกจากนี้ ในช่วงปี 64 พบจำนวนตู้คอนเทเนอร์ที่บรรจุตีนไก่ 200 กว่าตู้ ส่วนบทบาทของ นายกรินทร์ กับบริษัทห้องเย็น จ.นครปฐม มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปยังบิดาของตัวเอง มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปยังหลายกลุ่มเครือข่ายที่ทำเกี่ยวกับตีนไก่สวมสิทธิ ซึ่งพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมได้นั้นค่อนข้างชัดเจน ส่วนจำนวนเงินที่พบว่า นายกรินทร์ มีการทำธุรกรรมทางการเงินกับกลุ่มเครือข่าย พบว่ามีมูลค่าเงินสูงถึง 20 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนนามสกุลไปใช้ของพี่ชายนักการเมืองดัง ซึ่งต้องดูว่าไปเกี่ยวพันหรือมีความสัมพันธ์อะไรหรือไม่ต่อไป

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า นายกรินทร์ มีบทบาทเป็นกรรมการใน 9 บริษัท แต่บริษัทที่เขาใช้ทำธุรกิจจริงๆ มี 3 บริษัท ซึ่งยอมรับว่า มีการโอนเงินชำระค่าตีนไก่จากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดี เมื่อสอบสวนแล้วเสร็จจะส่งเรื่องให้ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาให้ประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนต่อไป

ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีตีนไก่สวมสิทธิ เราได้ตรวจสอบสถานภาพของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีใครประจำการบ้าง เพราะเราได้ข้อมูลจากเอกสารพบว่ามีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง เราจะตรวจสอบว่าชื่อที่ปรากฏในส่วยเป็นชื่อนามสกุลจริงหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งข้อมูลไปสอบถามยัง 3 หน่วยงาน คือ กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และกรมประมง เพื่อดูว่ามีชื่อใครบ้าง หากมีการตอบกลับมา เราก็จะเรียกบุคคลนั้นๆ มาให้ถ้อยคำต่อไป ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏชื่อในบัญชีส่วย บางรายประสานจะเข้าให้ข้อมูลกับดีเอสไอก่อนนั้น พอเราได้ดูรายชื่อพบว่าบางรายได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว หลังจากนี้จึงต้องประสานกลับอีกครั้งว่าพร้อมจะเข้าให้ข้อมูลห้วงเวลาใด

สำหรับความคืบหน้าในคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า จากการที่เราได้แยกสำนวนออกเป็น 10 เลขคดีพิเศษ และได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน ส่วนอีก 7 สำนวน เราได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่ามี 2 บริษัทที่มีเจ้าหน้าที่รัฐ 3 หน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง (กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และกรมประมง) ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสถานภาพ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริง 2 สำนวนนี้ เราจะส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ ขณะที่ 5 สำนวนที่เหลือเราจะส่งไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้

ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า ในคดีนี้ เนื่องจากเป็นตู้หมูที่นำเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และได้นำออกไปจำหน่ายหมดแล้ว ปัญหาคือไม่มีของกลางให้เราตรวจสอบ เราจึงต้องไปดูว่าตู้ที่ถูกนำเข้ามานี้ได้ถูกสำแดงเป็นอะไร เบื้องต้นพบว่าถูกสำแดงเป็นพอลิเมอร์และเนื้อปลาแช่แข็ง ดังนั้น สิ่งที่จะยืนยันได้คือการทำกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศต้นทาง เพื่อดูใบส่งของ (Invoice) ใบตราส่งสินค้า หรือ Bill of Lading (B/L) ว่าสินค้าแท้จริงคืออะไร ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินการกับกลุ่มผู้นำเข้าได้ ซึ่งกลุ่มผู้นำเข้าก็เป็นบริษัทที่ดีเอสไอเคยดำเนินคดีมาก่อน จำนวน 9 บริษัท โดยมีพฤติกรรมสั่งเข้ามาในปี 2565-2566 และยังมีอีกประมาณ 2 บริษัทที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีก แต่แม้ 9 บริษัทจะเคยถูกดำเนินคดีมาก่อนแล้ว แต่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทได้

“สำหรับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศโดยมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อน ได้มีการสั่งซื้อสินค้าด้วยนั้น คณะพนักงานสอบสวนพบว่ามีบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ จำนวน 15 บริษัท เป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าการเกษตร มีทั้งเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา ฯลฯ มีทั้งประเทศในทวีปอเมริกาใต้ 2 ประเทศ และในทวีปยุโรป 5 ประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศเดนมาร์ก ประเทศอิตาลี ประเทศบราซิล ประเทศอาร์เจนตินา เป็นต้น จึงต้องมาดูว่าข้อมูลที่ได้มีการประสานไปจะสอดคล้องกับที่กลุ่มผู้ต้องหาระบุหรือไม่ว่าได้สั่งซื้อสินค้าเนื้อปลาแช่แข็ง หากไม่มีความสอดคล้องกันก็ต้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป” พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 11.20 น. ที่ผ่านมา นายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผอ.ส่วนสะกดรอยและการข่าวฯ ได้ควบคุมตัว นายกรินทร์ จากอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ มายังห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 เพื่อให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม และคณะพนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำตามขั้นตอน โดยระหว่างเดินเข้าห้องสอบสวน เจ้าตัวยังคงปิดปากเงียบไม่ตอบประเด็นคำถามของผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด.