เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาวาระเรื่องด่วน การประชุมพิจารณาความตกลงการค้าเสรี ประเทศไทย-สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา หรือ FTA ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการพิจารณาหนังสือดังกล่าวนี้ ให้พิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 60 วัน 

โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สาระสำคัญของความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา ได้แก่ 1.การค้าสินค้ามีพื้นฐานอยู่บนความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ภายใต้องค์กรการค้าโลก การอำนวยความสะดวกด้านการค้า ตลอดจนให้มีการโปร่งใสและลดอุปสรรคด้านการค้าจากการใช้มาตรการที่ไม่ใช้ภาษีของประเทศภาคี ทั้งนี้ ในส่วนการเปิดตลาด มีการเปิดตลาดที่เท่าเทียมกันคือ ร้อยละ 85 ของจำนวนรายการทั้งหมด และมีระยะลดหรือยกเว้นอากร 16 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าร้อยละ 50 ของรายการทั้งหมด จะยกเว้นภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ 2.การค้าบริการ มีพื้นฐานอยู่บนความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการภายในองค์การการค้าโลก ประกอบด้วย การให้บริการข้ามพรมแดน การบริโภคในต่างประเทศ การจัดตั้งธุรกิจ การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา และ 3.การลงทุน ได้แก่ การเปิดเสรี การส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน 

ต่อมาที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ถ้าเราทำการค้าได้ตามความตกลงดังกล่าว สินค้าต่างๆ ของเราก็จะไหลไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้ ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายแนะนำว่า วันนี้ไทยเราพ้นจากเผด็จการมาพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการทำความตกลงกับหลายๆ ประเทศ ให้เทียบเท่า หรือมากกว่าเวียดนาม ที่ขณะนี้มีความตกลง FTA สูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องอัญมณี ที่ไทยทำการค้าส่งออกมากที่สุดกับศรีลังกา ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีของโลกได้ 

จากนั้นในเวลา 12.30 น. ประธานได้เปิดให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 580 ต่อ 0.