ยุคดิจิทัลแบบนี้ หลายๆคน เลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นสั่งอาหารแบบ “เดลิเวอรี่” ไปจนถึงการเรียกรถโดยสาร ผ่านแอปพิลเคชั่น จนติดใช้บริการไปแล้ว เรียกว่า หิวเมื่อไร? หรืออยากเดินทางไปไหน? ก็เปิดแอปฯแต่ปลายนิ้วคลิก!เท่านั้น!!

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สมรภูมิ ตลาดแอป “เดลิเวอรี่-เรียกรถ” แข่งกันดุเดือด สาดโปรโมชั่นกันกระจาย  แต่ก็ยังไม่มีผู้เล่นรายใดมีผลประกอบการที่เป็นกำไร ว่ากันว่าธุรกิจนี้ เป็นการ “เผาเงินทิ้ง”

ด้วยการแข่งขันที่สูง ผู้ประกอบการต้องลงเงินแข่งขันทำโปรโมชั่น  ใครทุนหนาก็ได้เปรียบ ใครทุนน้อย ก็ต้องหาเงินทุนเข้ามาเติม เพื่อแข่งขันต่อ ไม่เช่นนั้นต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป!?!

วันนี้ จะพามาเปิดมุมมองกับ “วรฉัตร ลักขณาโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ที่วันนี้เป็น ผู้นำซูเปอร์แอป ในตลาดเรียกรถผ่านแอป และเดลิเวอรี ที่สามารถทำกำไรได้แล้วเป็นเจ้าแรกในไทย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

วรฉัตร ลักขณาโรจน์

 “วรฉัตร ลักขณาโรจน์” ได้เล่าฉายภาพความสำเร็จในปีที่ผ่านมาว่า แกร็บ ถือเป็นแพลตฟอร์ม เดลิเวอรี่และเรียกรถโดยสารรายเดียวในไทยที่ธุรกิจมีผลประกอบการกำไร มา 2 ปี ต่อเนื่อง ซึ่งเป็ยผลมาจากการเปิดให้บริการใหม่ๆ และร่วมมือกับ ภาครัฐและเอกชน โดยธุรกิจการเดินทางในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น  ถึง 139% ขณะที่ธุรกิจเดลิเวอรี ทั้ง บริการแกร็บฟู้ด  และ แกร็บมาร์ท ก็เติบโตเช่นกัน

  ในปี 66 ที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ผู้ใช้บริการที่สมัครแพ็คเกจอันลิมิเต็ตประหยัดเงินค่าส่งรวมแล้ว 4,000 ล้านบาท  และ คนชับ พาร์ทเนอร์ ก็มีรายได้ต่อเดือนสูงขึ้น 10%  ร้านอาหารขนาดเล็ก สมัครเข้ามาเพิ่มขึ้น 32%  การเติบโตที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มช่องทางการชำระเงิน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยร่วมมือกับ อาลีเพย์  จากจีน และ  Kakao Pay จากเกาหลีพร้อมขยายฐานผู้ใช้บริการในต่างจังหวัด ผ่านการผนึกพันธมิตรกับธนาคารกรุงไทย โดยได้เชื่อมต่อ ระบบชำระเงินของแกร็บเพย์ วอลเล็ต เข้ากับแอปพลิเคชัน กรุงไทย เน็กซ์ เป็นต้น

 ผู้บริหารแกร็บ บอกต่อว่า หลังเข้ามาทำงานที่แกร็บ ได้ 5 ปี ได้พยายามปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจ ไม่ใช่การ แข่งขันราคา หรือทำโปรโมชั่นหนัก เหมือนก่อน แต่ได้เน้นการมองธุรกิจในระยะยาว โดยโยกงบด้านโปรโมชั่น มาใช้เพื่อการสร้างฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในส่วน แกร็บ อันลิมิเต็ด  ระบบสมาชิก  และให้มีการสั่งซื้อต่อ ครั้งมากขึ้น แทนที่จะสั่งซื้อแค่ข้าวกล่องเดียว  ก็สั่งอย่างอื่นด้วยเพื่อให้ยอดต่อบิลมีมูลค่าสูงขึ้น และมีการใช้ระบบสมาชิก ที่ช่วยให้ลูกค้าได้บริการที่มีคุณภาพในราคาที่ดี  เพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงได้มีการเพิ่มช่องทางทำรายได้ใหม่ๆ เช่น โฆษณาหรือแกร็บ แอด เป็นต้น

“ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการเดลิเวอรี่ แกร็บ ฟู้ด กว่าครึ่งเป็นลูกค้าแบบสมาชิกซึ่งมีการสั่งมากกว่าลูกค้าปกติ 20%  ในปีนี้จะพยายามเพิ่มฐานสมาชิกกับผู้ใช้บริการเรียกรถด้วย นอกจากนี้จะโฟกัสไปที่เรื่องคุณภาพ แม้จะมีคู่แข่งจำนวนหลายรายก็แข่งได้ โดยเฉพาะธุรกิจเรียกรถ ตอนนี้มีแอปฯเรียกรถเกิดขึ้นจำนวนมาก และบางรายมีราคาถูกกว่า การที่จะยืนในตลาดนี้ และเติบโตในระยะยาวได้อยู่ ต้องมีเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ซึ่งธุรกิจเรียกรถแตกต่างจากเดลิเวอรี่ ที่ต้องให้ความสำคัญ กับเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน”

ขณะเดียวกันในธุรกิจ เดลิเวอรี่ ก็จะสร้างความแตกต่างในระยะยาว เน้นการทำเรื่องสมาชิก และการจับมือกับร้านอาหารที่อร่อยๆ เพื่อสร้างความต่าง ที่ผ่านมาได้ออกฟีเจอร์เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อย่างบริการรับเองที่ร้าน (Pickup) บริการสั่งอาหารแบบกลุ่ม (Group Order) หรือแม้แต่บริการกินที่ร้าน (Dine-in) ทำให้ แม้จะมีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามา แกร็บก็ยังสามารถป้องกันธุรกิจของตนเอง และแข่งขันในตลาดได้

สำหรับธุจกิจที่จะเป็นดาวรุ่งในปีนี้ คือ ธุรกิจโฆษณา หากดูแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ใหญ่ระดับโลก จะทำธุรกิจโฆษณาที่ใหญ่มาก ซึ่งแกร็บยังมีตัวเลขที่ห่างไกล จึงคิดว่า ธุรกิจโฆษณา จะเติบโตได้อีกมาก

“แกร็บมองเห็นสัญญาณเชิงบวกและเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภูมิภาครวมถึงประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปและฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 15% ภายในปี 68”

สำหรับในปี 67 นี้ ทางแกร็บได้เปิดเผนธุรกิจ “4A”  คือ 1.มุ่งรักษาฐานลูกค้าหลัก (Active Users)  โดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลัก คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สมาชิกแพ็กเกจ แกร็บ อันลิมิเต็ด  และลูกค้าคุณภาพที่ใช้บริการเป็นประจำ (Quality User) ผ่านการผนึกความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตร อาทิ การร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการในสนามบินต่างๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย ดอนเมือง และล่าสุดที่สนามบินสุวรรณภูมิ

2.ผุดบริการใหม่ที่เน้นความคุ้มค่า (Affordability) เพื่อเพิ่มทาเงลือกให้ผู้ใช้บริการและขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ชูจุดเด่นในเรื่องความคุ้มค่า เช่น “GrabCar SAVER” บริการ “GrabBike SAVER” การจัดส่งอาหารแบบประหยัดหรือ “SAVER Delivery”  และได้เปิดตัวซับแบรนด์ใหม่ “Hot Deals” เป็นเครื่องหมายการันตีความคุ้ม

3.ใช้เทคโนโลยีเอไอเสริมแกร่ง (AI Technology) โดยได้ พัฒนา AI และแมชชีนเลิร์นนิง  มากกว่า 1,000 โมเดลเพื่อพัฒนาบริการและเสริมประสิทธิภาพ  ในธุรกิจด้านการเงิน พร้อมพัฒนา GrabGPT เพื่อใช้งานในองค์กร และ 4. ธุรกิจโฆษณา-บริการใหม่ (Ads & New Services) ขยายบริการ GrabAds เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณา เจาะตลาดลูกค้าองค์กร ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ-ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค และ ยังเตรียมผลักดัน “Self-serve Ads” เครื่องมือในการโฆษณา สำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้า ด้วย

สุดท้ายผู้บริหารแกร็บ ยังบอกถึงเรื่อง ธุรกิจ เวอร์ชวลแบงก์ ว่า ที่ผ่านมามีคนมาจีบชวนทำบ้าง แต่โดยส่วนตัวเคยอยู่ในธุรกิจแบงก์มาก่อน มองว่า ผู้ที่จะสบความสำเร็จ ใน เวอร์ชวลแบงก์ ได้ คือ ผู้ที่ในธุรกิจแบงก์เดิม เพราะคนที่เข้ามาใหม่คงสู้กับแบงก์ได้อยาก

 อย่างไรก็ตามแกร็บก็ไม่ได้ปิดโอกาสตัวเองที่จะไม่ทำเลย เรียกว่าต้องติดตามดูกันต่อไป!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์