เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3 ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุม ที่ว่าการ อ.ปทุมรัตต์ ต.บัวแดง จ.ร้อยเอ็ด  เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ของบริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่   โดยก่อนหน้านี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นไปแล้ว 2  คือเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2565 ที่ศาลาเอนกประสงค์อบต. สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ไม่ได้จัดในพื้นที่ ต. โนนสวรรค์ที่เป็นที่ตั้งของโรงงาน และครั้งที่ 2 จัดขั้นในวันที่  18 ก.ค. 2566 ถึงแม้จะจัดในพื้นที่ต.โนนสวรรค์แต่ก็เป็นการจัดในพื้นที่ปิดของบริษัทมีรั้วและประตูแสดงขอบเขตอย่างชัดเจนและประชาชนที่เห็นต่างทั้งหมดก็ถูกกันออกหรือปิดประตูไม่ยอมให้เข้าและมีการเตรียมการใช้การฟ้องคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯมาเล่นงานนักปกป้องสิทธิฯในครั้งนั้นด้วย ซึ่งการจัดเวทีทั้ง 2 ครั้ง ที่ผ่านมานั้นนักปกป้องสิทธิฯเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้ชุมนุมคัดค้านไปแล้วและมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนให้ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดสั่งให้เวทีรับฟังความเห็นของโรงงานเป็นโมฆะ เพราะไม่มีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และครั้งนี้เครือข่าย ฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ได้แจ้งชุมนุมสาธารณะแล้ว

นางหนูปา แก้วพิลา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ทุ่งกุลาที่เป็นพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิติดอันดับโลก เราปลูกข้าวหอมมะลิให้คนทั้งประเทศกินรัฐบาลควรส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิของเราอย่างจริงจังไม่ฉาบฉวยเพื่อให้เราสามารถเอาข้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ทำให้เราเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐที่เอื้อนายทุนเช่นนี้  แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปิดกั้นไม่ให้เราเข้าไป ก็อย่าคิดว่าจะปิดกั้นการต่อสู้ของเราได้ การต่อสู้ของเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้หลังจากนี้เราจะเข้าไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ให้หยุดโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของเราให้ได้

ด้านปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายมาเป็นปัญหาเร่งด่วนและทวีความรุนแรง รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสำคัญนี้ โดยมีการแสดงจุดยืนในเวทีนานาชาติ  ดังนั้นรัฐบาลต้องยุติการที่บริษัทฯได้ทำการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง(SLAPP) ต่อนายเกียรติศักดิ์ คำพิลา นักปกป้องสิทธิฯและสมาชิกของเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา  โดยทันทีและต้องยุติโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทด้วย ถึงจะเป็นไปตามจุดยืนรัฐบาลที่ประกาศไว้

ทั้งนี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ คือ  1.  พื้นที่ อ.ปทุมรัตต์และอำเภอใกล้เคียงทั้งใน จ.ร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียง ได้กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นเยี่ยมของทุ่งกุลาซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา  จึงเป็นเหตุผลที่โครงการทั้งสองควรถูกยกเลิก เพิกถอน หรือยุติการผลักดันใด ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป 2. โครงการทั้งสองได้ขัดขวางและทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่การรับฟังความคิดเห็น ประชาชนที่เห็นต่างทั้งหมดจะถูกกันออกหรือปิดประตูไม่ยอมให้เข้า  โดยเตรียมการใช้การฟ้องคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯมาเล่นงานการดำเนินโครงการทั้งสองจึงขัดต่อหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐบาลไทยและธุรกิจจะต้องยึดถือปฏิบัติ เพราะไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริงที่

3. เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เห็นว่า “สิทธิ์ตั้งโรงงานน้ำตาล” หรือ “หนังสือรับรองในการอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล” ไม่ควรได้รับสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตเป็นครั้งที่สองในพื้นที่เดิม จากเหตุที่ไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานได้ตามกำลังการผลิตที่ได้รับสิทธิ์ และเนื่องด้วยความไม่เหมาะสมของพื้นที่ เพราะพื้นที่บริเวณทุ่งกุลานี้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้จดสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 4. พื้นทุ่งกุลาเป็นพื้นที่เป้าหมายของแผนพัฒนาภาคอีสานของสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 15 พ.ย.65  ให้เป็นพื้นที่เพิ่มศักยภาพการผลิต ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น  การย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานของบริษัทฯออกไปจากพื้นที่ทุ่งกุลาฯเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะมั่นใจหรือเชื่อใจได้ว่าหากบริษัทฯสามารถก่อสร้างโรงงานได้ จะไม่พลิกลิ้นกลับมาทำลายพื้นที่ทุ่งกุลาฯด้วยการกำหนดเป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยในภายหน้า 5. บริษัทฯได้ทำการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง (SLAPP) ต่อนายเกียรติศักดิ์ คำพิลา ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เพื่อหวังจะปิดปาก ทำให้กลัวและไม่ให้ทำการวิพากษ์วิจารณ์การผลักดันโครงการทั้งสองของบริษัทฯอีกต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาตระหนักถึงเหตุผลที่ได้กล่าวมา เพื่อยุติการผลักดันโครงการทั้งสองมิให้ดำเนินการอีกต่อไป.