ที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ กรุงเทพ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2567” ว่า การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรม 
เพื่อความเข้มแข็งของสังคม และเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของรัฐ และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ที่ช่วยคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพกลุ่มเสี่ยง สื่อสารแจ้งเตือนภัยสุขภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ขับเคลื่อนเครือข่ายบูรณาการการทำงานป้องกัน และแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน หรือ SMEs สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ OTOP ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ สนับสนุนให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ มุ่งสู่เป้าหมาย “คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน

นายแพทย์ยงยศกล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา และเครื่องสำอางที่เป็นอันตรายที่จำหน่ายตามตลาดนัดหรือรถเร่ในชุมชน ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เจ็บป่วย หรืออาจเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน
รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์สุขภาพ และมีเครื่องมือตรวจสอบคัดกรองความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ขับเคลื่อนงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 มีการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภัย



ด้านสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลสำเร็จของการดำเนินงาน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี สามารถจัดตั้งศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพ เพื่อเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชน ตำบลและอำเภอ จำนวน 556 แห่ง ผลิต อสม.ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ อสม.นักวิทย์ฯ โดยมีปลอกแขนสีเขียว
ติดแขนซ้าย เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้การรับรองคุณภาพการปฏิบัติงานที่มีความรู้ในการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น คัดกรองและตรวจสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งด้านยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ด้านอาหาร จำนวนกว่า 22,235 คน และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพร สู่ Smart product รวม 143 ผลิตภัณฑ์ Safety Product รวม 219 ผลิตภัณฑ์ Sustainable product รวม 17 ผลิตภัณฑ์ และ Initiative Product รวม 28 ผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสการต่อยอดสู่ตลาดสากลให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 268 ราย


“การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน” ประจำปีงบประมาณ 2567 ถือเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจให้กับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนางานวิทยาศาสตร์การแพทย์
ชุมชน อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับชุมชน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร
และเครื่องสำอางสมุนไพรที่มุ่งมั่นพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีพิธีมอบประกาศนียบัตรผลิตภัณฑ์คุณภาพพัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 108 ราย รางวัลเชิดชูเกียรติงานหน่วยงานที่มี ผลงานดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ประจำปี 2565-2567 จำนวน 108 รายประกอบด้วย สสจ.ต้นแบบด้านศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพในชุมชน 12 แห่ง สสอ.และรพ.สต.ต้นแบบ ด้านศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพในชุมชนหน่วยงานละ 36 แห่ง และอสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนดีเด่น ระดับเขต 24 คน

ด้านนายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดงาน งานมหกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ครั้งนี้ เอ็ม บี เค ขอบคุณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ไว้วางใจและเลือกให้ ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน และได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และได้รับตราสัญลักษณ์รับรองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น มั่นใจได้ว่าจะสินค้าทุกอย่างที่มาจำหน่ายในงานนี้เป็นของดีมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัยอย่างแน่นอน ที่สำคัญยังตรงกับวิสัยทัศน์ของ ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ที่เราดูแลใส่ใจการใช้ชีวิต กินดี อยู่ดี สุขภาพดีของลูกค้าและผู้ใช้บริการทุกท่าน

ด้านนายดำรง พิศวงศ์ ผู้ประกอบการสุพัตราปลาร้าทอดสมุนไพรจากจังหวัดนครราชสีมากล่าว่าตนเองทำธุกิจเกี่ยวกับปลาร้าทอดสมุนไพร ตอนแรกเป็นปลาร้าทอดแบบแกะเนื้อขายธรรมดาแต่ประสบปัญหาเนื้อปลาทอดที่พอทิ้งไว้นานก็จะเหนียวไม่กรอบและหืนฝากขายลำบาก พอทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 จ.นครราชสีมา ได้เข้ามาช่วยเหลือเก็บตัวอย่างต่างๆไปตรวจสอบหาเชื้อราเชื้อแบคทีเรียต่างๆที่ทำให้เกิดการเน่าเสียง่าย ให้ความรู้ทำให้ได้วิธีและขบวนการขั้นตอนในการผลิตที่สามารถแปรรูปจัดเก็บปลาร้าทอดไว้ได้นานมากยิ่งขึ้น โดยใช้ความร้อนสูงในขบวนการผลิตสามารถเก็บไว้ทานได้นานถึง 6 เดือนโดยไม่มีกลิ่นหืนและยังคงความกรอบและสดใหม่ไว้ได้อีกด้วย  ปัจจุบันยอดขายดีมาก เป็นของฝากยอดนิยมของเมืองโคราชแตกต่างจากเมื่อก่อนมากที่เน่าเสียง่ายต้องเก็บกลับเพราะขายไม่ได้ ต้องขอขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าชุมชนของเราจนเป็นที่ยอมรับทั้งคุณภาพและมาตรฐาน