จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้ “กรดซัลฟิวริก” ไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ซึ่งระยะทางจุดเกิดเหตุห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 293 กิโลเมตร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไชยะบุรี วันที่ 5 เม.ย. ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทย นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้สั่งการให้สาธารณสุขอำเภอ ทั้ง 4 อำเภอ ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง ประกอบด้วย อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากกรดซัลฟิวริก ทั้งจากพี่น้องชาว สปป.ลาว และชาวไทย

สำหรับรายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงจากกรณีสารเคมีรั่วไหล (กรดซัลฟิวริก : Sulfuric Acid) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจวัดคุณภาพน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.นครพนม (ครั้งที่ 3) ในเบื้องต้นพบคุณภาพน้ำยังปกติ ผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย. 67 เวลา 09.00 น.) จุดตรวจ อ.บ้านแพง ค่า pH อยู่ที่ 7.4 จุดตรวจ อ.บ้านท่าอุเทน ค่า pH อยู่ที่ 7.98 จุดตรวจ อ.เมืองนครพนม ค่า pH อยู่ที่ 7.92 และจุดตรวจ อ.ธาตุพนม ค่า pH อยู่ที่ 7.6 ทั้งนี้ โดยแหล่งน้ำธรรมชาติ มีค่า pH ปกติอยู่ในช่วง 6.5-8.5

ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงพี่น้องประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่ 4 อำเภอติดแม่น้ำโขง หากสัมผัสแหล่งน้ำแล้วมีอาการระคายเคือง ผิวหนังไหม้ปวดแสบร้อน เกิดแผลพุพอง หรือตาพร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อนึ่ง อันตรายของกรด-ด่างต่อสุขภาพส่วนใหญ่ จะเกิดกับผิวหนัง ตาและระบบทางเดินหายใจ ผลกระทบของกรด-ด่างต่อสุขภาพคล้ายคลึงกับผลจากความร้อน ผลจากการสัมผัสโดยตรง จะทำให้เกิดการระคายเคืองเกิดการบวมแดง จนถึงกัดผิวหนังเป็นแผลเปื่อย พุพอง ในกรณีร้ายแรงจะเกิดแผลไหม้รุนแรง ทั้งนี้ ผลกระทบต่อสุขภาพนี้ จะขึ้นกับลักษณะสมบัติของกรด-ด่าง ความเข้มข้นระยะเวลาที่สัมผัสด้วย.