เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการเดินทางในวันที่ 15 เม.ย. 67 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เริ่มมีประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของขบวนรถทางไกล และขบวนรถชานเมือง ซึ่ง รฟท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการใช้บริการสูงสุด

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการเดินทางเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 67 รฟท. ได้จัดเดินขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 1 ขบวน และเพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถที่มีเดินประจำ 214 ขบวนต่อวัน มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางโดยรถไฟ รวม 76,429 คน แบ่งเป็น ผู้โดยสารขาออก 37,568 คน และขาเข้า 38,861 คน โดยเส้นทางที่มีผู้โดยสารเดินทางหนาแน่นที่สุดคือ สายใต้ 27,443 คน รองลงมา สายตะวันออกเฉียงเหนือ 18,504 คน สายเหนือ 12,689 คน สายมหาชัย 8,220 คน สายตะวันออก 8,145 คน และสายแม่กลอง 1,428 คน

นายเอกรัช กล่าวอีกว่า รฟท. ยังคงให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. โดยได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนรถไฟ จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และจัดตั้งศูนย์ปลอดภัย เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด CCTV ตามสถานีรถไฟ และบนขบวนรถทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเพิ่มกำลังพนักงาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั้งบนขบวนรถ และสถานี นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น จัดอาสาสมัครเฝ้าระวังทางผ่านเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่มีความเสี่ยง หรือมีสถิติอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ตรวจสภาพทางให้มีความปกติมั่นคงปลอดภัยต่อการเดินรถ เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน

นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม รฟท. ขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัย อาทิ การให้หยุดรถห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร ห้ามขับรถแซงขึ้นหน้ารถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ และหากเห็นป้ายสัญลักษณ์ ได้แก่ ป้ายหยุด ป้ายเตือนรูปกากบาท “ระวังรถไฟ” ป้ายทรงสีเหลี่ยมขนมเปียกปูนสีอำพัน มีเครื่องจักรไอน้ำและรั้วกั้น ให้ชะลอความเร็ว และดูให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟแล่นผ่านมา เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้ทาง.