เมื่อวันที่ 4 เม.ย. รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งว่า บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ค่าจ้างการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ยังเหลือหนี้สินในส่วนของค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 รวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์ หลังจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จํากัด (เคที) ร่วมกันจ่ายหนี้ดังกล่าวให้บีทีเอส

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า บริษัทฯ ต้องแบกรับภาระหนี้มาหลายปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามบริหารโครงการอย่างเต็มที่ ไม่มีการหยุดเดินรถไฟฟ้า แม้จะต้องจ่ายเงินเองทุกวัน เพราะบริษัทฯ ไม่ต้องการให้กระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้โดยสาร โดยเงินที่ได้รับชำระหนี้ในครั้งนี้บริษัทฯ จะนำไปชำระให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทฯ อาทิ เงินกู้สถาบันการเงิน ซึ่งแต่ละปีต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นพันล้านบาท และหนี้จากการออกพันธบัตร ซึ่งการจ่ายหนี้ดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และพร้อมที่จะพัฒนางานบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย และปลอดภัยในการเดินทางมากที่สุด

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ทุกวันนี้ตัวเลขหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ยังสะสมไหลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประมาณเดือนละ 500-600 ล้านบาท โดยค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายดำเนินการมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งหนี้ส่วนนี้ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทฯ ต้องได้รับผลกระทบต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน อีกทั้งต้องชี้แจง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้นว่าบริษัทฯ จะต้องได้รับชำระหนี้คืนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณ กทม. ที่ชำระหนี้คืนให้แก่บริษัทฯ เพื่อให้การบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดินหน้าได้อย่างราบรื่น ปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่กว่า 8 แสนคนต่อวัน.