นายศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า “Digital Wallet : กู้ ธ.ก.ส. พอได้แล้ว” ในฐานะที่ตนเคยเป็นนักวิชาการ ทำงานอยู่ในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง และได้ติดตามงานด้านเศรษฐกิจการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสนใจ

หลังจากได้รับฟังถ้อยแถลงจากตัวแทนรัฐบาลว่า จะใช้เงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำไปใช้ในโครงการประชานิยม “แจกเงิน” ให้กับประชาชนที่อยู่ในข่ายเป็นเกษตรกรซึ่งขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาท นั้น ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาอย่างมากมาย และมองเห็นภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกร และประเทศชาติโดยส่วนรวม

เอาประเด็นที่ว่า เงินจำนวนมากมายที่จะนำมาจาก ธ.ก.ส. นั้น สามารถนำมาใช้ในโครงการนี้ได้หรือไม่เสียก่อน? ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่แต่ละฝ่ายได้นำมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ธ.ก.ส. มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งต่อมาความใน (3) ของมาตรา 9 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2549 และใช้บังคับมาตั้งแต่ 15 มีนาคม 2549

โดยฝ่ายรัฐบาลเห็นว่ามาตรานี้เปิดช่องให้สามารถทำได้ ผมจึงขอนำเสนอรายละเอียดของมาตรา 9 ให้ทุกท่านได้พิจารณา เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงเจตนารมณ์ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคาร ดังนี้ มาตรา 9 กำหนดว่า ธนาคารมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1. ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร สำหรับการ (ก) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม (ข) ประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ (ค) พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม หรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร หรือครอบครัวของเกษตรกร (ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร

2.ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม 3.ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

การที่รัฐบาลบอกว่าคำว่า “เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี่แหละ เข้าข่ายตามเงื่อนไขวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ธ.ก.ส. เพราะฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลัง ยืนยันมาแล้วว่าทำได้ ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน เพราะเมื่อเรื่องนี้ถูกนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี หน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ก็ต้องเสนอความเห็นมาประกอบอยู่ดี ซึ่งหากถามความเห็นไป จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ เพราะพี่น้องประชาชนรอคอย เมื่อฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลังยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าทำได้ ไม่ผิด พ.ร.บ.ธ.ก.ส. เราก็ต้องเชื่อตามนั้น”

ผมว่านี่เป็นการให้เหตุผลแบบเอาสีข้างเข้าถู ดูเหมือนเป็นการด้อยค่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับรัฐบาลหรือกลัวว่าเมื่อถามไปแล้ว ก็จะได้ความเห็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา

หากท่านพิจารณาให้ดีๆ จะเห็นว่า ข้อความที่ระบุว่า เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามที่ปรากฏอยู่ในข้อสามซึ่งท่านใช้เป็นข้ออ้างนั้น ความจริงมันมีปฐมเหตุมาจากการที่เกษตรกรสามารถดำเนินกิจกรรมทางการผลิตและการตลาด ประกอบอาชีพได้ตามหน้าที่ เพราะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทางธนาคารในรูปแบบของการให้สินเชื่อ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม การปรรงงะกอบอาชีพ ตามที่ระบุอยู่ในข้อ 1 ซึ่งต้องมีต้นทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นการเอาเงินไปไล่ “แจก” แล้วจะทำให้เกษตรกรมีเศรษฐกิจที่ดี เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อย่างที่รัฐบาลอยากจะให้ ธ.ก.ส. ทำ

จริงอยู่ครับ นายกฯ ไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นจากกฤษฎีกาก็ได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำลงไป แต่ผมว่ามันไม่คุ้มหรอก ถ้าปล่อยให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติก่อน แล้วถูกลงโทษ

โดยความเป็นจริง ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้เกิดการผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด ควบคู่กับการให้ความรู้ทางวิชาการ และการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ภายใต้การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเงินทุนก็ถือเป็นปัจจัยการผลิตหนึ่งที่มีความสำคัญ

แต่การที่รัฐบาลจะใช้ช่องทางของ ธ.ก.ส. เป็นตัวผ่านเงิน “แจก” ไปสู่ประชาชน โดยให้ธนาคารหาเงินมาจ่ายไปก่อน หรือกู้ยืมเงินจากสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร แล้วรัฐบาลจะนำมาชำระคืนให้ในภายหลังโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนนั้น เป็นการกระทำที่อาจทำให้ ธ.ก.ส. เข้าสู่ภาวะของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการใช้เงินทุนมีปริมาณสูงกว่าสภาพคล่องที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้ธนาคารต้องถูกควบคุมหรือหยุดกิจการได้

ผมเห็นว่า ปีบัญชี 2566 สภาพคล่อง ธ.ก.ส. ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพียงพอรองรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารนั้น สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน รวม 287,241 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ร้อยละ 15.70 เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ขั้นต่ำร้อยละ 8.50 แต่หากจะต้องมาแบกรับภาระเงินก้อนโตนี้อีก

ในขณะที่หนี้เก่าจากโครงการรับจำนำข้าวที่ยังคงค้างอยู่อีกกว่า 230,000 ล้าน หรือพิจารณาจากลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 594,207 ล้านบาท ก็จะเป็นปัญหาสะสมที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการมุ่งสู่การเป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบทและภาคเกษตรครบวงจรในทศวรรษที่ 6 ตามที่ธนาคารได้ตั้งความมุ่งหวังไว้ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า แม้ ธ.ก.ส. จะเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาล สามารถใช้กลไกภายใต้ พ.ร.บ.การเงินการคลัง มาตรา 28 เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.ธ.ก.ส. มาตรา 9 (3) มาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมตามกฎหมาย ที่เห็นว่าเปิดช่องให้กระทำได้นั้น คำถามที่ต้องหาคำตอบก็คือ ทำได้จริงหรือ? และการนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้จ่ายในโครงการนี้ จะถือว่าเป็นการกู้เงินหรือไม่? เพราะในช่วงของการหาเสียง ท่านได้พูดอย่างชัดเจนว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ทำได้ทันที และไม่มีความจำเป็นต้องกู้! แต่นี่ก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ประชุมมาก็หลายครั้ง ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดใดๆ เลย

ผมจึงเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานฯ ธ.ก.ส. ที่เห็นควรให้ สนง.กฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ พิจารณาให้ความเห็นอย่างชัดเจนเสียก่อน ว่า ธ.ก.ส.จะสามารถดำเนินโครงการ Digital Wallet ให้กับรัฐบาลได้หรือไม่ ท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยได้ให้ข้อสังเกตร่วมกันว่า ประเทศชาติของเรากำลังประสบกับปัญหาความเสื่อมถอยในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของที่ดิน ส.ป.ก.

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามให้นายทุนเข้ามาครอบครอง ถือกรรมสิทธิ์ หาผลประโยชน์ แทนที่จะนำไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วนตามเจตนารมณ์ ธ.ก.ส. ก็เช่นเดียวกัน หากถูกใช้เป็นเครื่องมือที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน กลุ่มทุน นักการเมือง เป็นการเฉพาะแล้ว ประโยชน์อันแท้จริงที่พี่น้องเกษตรกรพึงจะได้รับก็จะต้องสูญเสียไป .. ทำไมการประชุมเรื่องเงิน Digital Wallet ในแต่ละครั้ง ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเลย ซึ่งก็เข้าใจได้ครับว่า “เงินบาท” เป็นสกุลเงินเดียวที่สำคัญของชาติ คงไม่บังอาจที่จะสนับสนุนสกุลเงินอื่นให้เข้ามามีบทบาทใช้คู่ขนานกัน .. ถึงวันที่เราจะต้องผนึกกำลัง ร่วมมือกันแล้วล่ะครับ เพื่อให้ชาติบ้านเมืองของเราหลุดพ้นออกจากวงจรการทุจริตคอร์รัปชั่น การทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งร้ายของสังคม เพื่อให้ประเทศของเรามีความเจริญรุ่งเรือง พี่น้องคนไทยได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน