โดยแต่ละเดือน คนไทยเราต้องหมดเงินไปกับอะไรบ้างนั้น ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 ของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” บอกว่า 35.2% หมดไปกับค่าอาหาร เครื่องดื่มยาสูบ, 21.7% หมดไปกับค่าที่อยู่อาศัยเครื่องใช้, 15.9% หมดไปกับการเดินทาง, 6% หมดไปกับค่าเสื้อผ้ารองเท้า ของใช้ส่วนบุคคล, 3.6% หมดไปกับค่าใช้จ่ายสื่อสารเช่น ค่าอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์รายเดือน, 1.4% หมดไปกับค่าใช้จ่ายการศึกษา, 1.4% หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล, 1.2% หมดไปกับการบันเทิงจัดงานพิธี หรืองานศพ งานแต่งงานและ 0.9% หมดไปกับเงินทำบุญ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว!! มองว่า … ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เรามีความแตกต่างกันไป ความชอบของแต่ละบุคคลก็ย่อมจะแตกต่างกันไปด้วย ทำให้ค่าใช้จ่าย “แอบแฝง” ของคนไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนที่หนักไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าคนปกติ ตามความชอบส่วนบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง

แฟชั่นใหม่ล่อใจคน

คนที่ชื่นชอบสินค้าแฟชั่น ก็มักจะทุ่มเทเงินไปกับการชอปปิงกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า เรียกว่า คอลเลกชั่นใหม่มาเมื่อไหร่เป็นต้องซื้อเพราะคติคนยุคใหม่ คือ “ของมันต้องมี” และคติที่ว่านี้จึงนำไปสู่การช้อปเงินเกินตัว ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มากกว่า 58% ของคนอายุ 25-29 ปี เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบ ตั้งแต่ทำงานได้เพียงปีเดียว ใช้บัตรเครดิตนำไปใช้จ่ายเต็มวงเงินภายในไม่ถึง 1 ปี ต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำ จนหนี้พอกพูน สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสีย

ความน่ากลัวของการเป็นหนี้บัตรเครดิต ยังพบว่าเกือบ 30% มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมสูงกว่าเงินเดือนหรือรายได้มากถึง 10-25 เท่า ทำให้แต่ละเดือนมีภาระจ่ายหนี้เกินครึ่งของรายได้ จนเงินไม่พอใช้

ออนไลน์ง่ายแค่ปลายนิ้ว

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวนั่นก็คือ ความสะดวกสบายจากการซื้อสินค้าผ่าน “ออนไลน์” เพราะในยุคที่การซื้อสินค้าทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ทำให้หลายคนหักห้ามใจไม่ไหวต้องชอปปิง โดยเฉพาะช่วงเงินเดือนออก ก็ต้องรีบเข้าแอปพลิเคชันเพื่อซื้อของที่อยากได้ แน่นอนถ้ามีวินัยในการใช้จ่ายคงไม่เกิดปัญหาหนี้สิน แต่หากชอปปิงเพลินอาจต้องกลายเป็นคนมีหนี้สินรุงรัง

“ทุกวันนี้ถ้าเราอยากซื้อของสักชิ้น แทนที่จะต้องเดินออกไปหน้าปากซอยหรือขับรถไปห้างสรรพสินค้า ก็แค่หยิบโทรศัพท์มือถือมาเครื่องเดียว ก็สามารถกดซื้อของให้มาส่งถึงหน้าประตูบ้าน เพราะเทคโนโลยีทำให้ได้รับความสะดวกสบาย แต่ก็ตามมาด้วยการเสียเงินได้ง่ายขึ้นเช่นกัน”

กินเที่ยวอวดลงโซเชียล

หนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนั่นก็คือ “โซเชียล ชิฟต์” ซึ่งมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป คนไทยเล่นเฟซบุ๊กอันดับ 8 ของโลก อินสตาแกรมอันดับ 14 ของโลก คนที่ลงรูปในอินสตาแกรม เพิ่มขึ้นต่อปีมากกว่า 80% เน้นชีวิตไลฟ์สไตล์รีวิวร้านอาหาร เพิ่มขึ้น 34% รีวิวที่เที่ยวเช่น เที่ยวญี่ปุ่น เที่ยวทะเลเพิ่มขึ้นสูงถึง 14% และเมื่อสำรวจจากกูเกิลเทรนด์ พบว่าคนไทยค้นหารีวิวร้านอาหารนั่งเล่น เที่ยว มีมากถึง 98% ต่อปีเมื่อเทียบกับออมเงิน ลงทุนลดลงไป 0.5% เรียกว่าเห่อกินเที่ยว โซเชียลมาก่อนออมทีหลัง จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายโดยใช่เหตุ

หวยสุราบุหรี่ 40%

ส่วนค่า หวย สุรา บุหรี่ของคนไทย พบว่าเฉลี่ยแล้วมีมากถึง 40% โดยคนไทยเสียเงินเรื่องเหล้าเยอะมาก มีการบริโภคสุราเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และพูดถึงเรื่องการเสี่ยงโชคก็พบว่ามีการเสี่ยงโชคไปกับหวยมากที่สุดถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด เพราะหากถูกรางวัลขึ้นมาก็คุ้ม เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนหลายร้อยเท่าตัว และเชื่อว่าซื้อแต่ละครั้งมีสิทธิรวย เหมือนเป็นการมองโลกในแง่บวกลงทุนก้อนเล็กเพื่อที่จะได้รวยเร็ว ซึ่งเห็นได้จากในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ หรือรายได้ลดน้อยลง แต่คนไทยก็ยังนิยมซื้อหวยกันเหมือนเดิม

มูเตลูเสริมกำลังใจ

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายแอบแฝงของคนไทยที่เริ่มฮอตฮิตเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3-5 ปีมานี้ นั่นก็คือ “มูเตลู” หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องลี้ลับ ของขลัง ไสยศาสตร์โหราศาสตร์ การดูไพ่การเสริมดวงและโชคชะตาการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ในปัจจุบัน มูเตลูถูกหลอมรวมความเชื่อพุทธพราหมณ์ การนับถือผีและสิ่งเร้นลับเข้าด้วยกัน และกลายเป็นความเชื่อที่เสริมกำลังใจผู้นับถือบูชาให้สมหวังในสิ่งที่มุ่งหวังทั้งด้านการงานการเงิน และความรัก

ทั้งนี้ จะเห็นว่าหากพูดถึงเรื่องมูเตลูแล้ว คนไทยพร้อมจ่ายมาก ทำให้ปัจจุบันเกิดเป็นธุรกิจมูเตลูขึ้นมากมาย ตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ยังต้อง “มู” ไปจนถึงธุรกิจท่องเที่ยวทำให้ข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้าล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 พบว่ามีผู้จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจความเชื่อความศรัทธา มีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย หากเทียบกับปี 2562 ที่มีเพียง 11 รายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ่งเหล่านี้คือสาเหตุของปัญหาหลักในแต่ละเดือน ที่ทำให้การใช้ชีวิตของเรา “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” และก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรจะต้องหาวิธีจัดการกับตัวปัญหาเหล่านี้

บำบัดใจช้อปเกินตัว

วิธีง่าย ๆ อย่างการช้อปเกินตัว ก็อาจจะต้องบำบัดใจด้วยการหางานอดิเรกใหม่ ๆ ลองหากิจกรรมอื่นที่ช่วยให้ผ่อนคลายและสนุกไปด้วย เช่น ฝึกเล่นโยคะ เดินเล่นในสวนปั่นจักรยาน หรือหามุมสงบอ่านหนังสือ และจดรายการที่ต้องซื้อโดยทุกครั้งเมื่อต้องเดินเข้าห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และลองท้าทายตัวเองว่าจะไม่ซื้ออะไรเกินจากลิสต์นี้ ถ้าทำได้ก็ลองให้คะแนนตัวเอง ถือเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

อาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อน หากกลัวว่าจะหักห้ามใจไม่ได้ เมื่อต้องซื้อของให้คนที่ไว้ใจคอยเตือนคอยห้ามคอยดึงสติ พร้อมกับจ่ายเป็นเงินสด เตรียมเงินไปให้พอดีกับของที่ต้องซื้อ อย่าใช้บัตรเครดิตและยกเลิกติดตามหรือการเป็นสมาชิกเว็บชอปปิงออนไลน์เพื่อตัดช่องทางการไม่รับข่าวสารหรือโปรโมชั่นที่เป็นสิ่งเร้า หรือปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการออกไป

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ขณะที่ปัญหาของคนที่เห่อกินเที่ยว รีวิวโซเชียล ก็อาจจะหันมาใช้โอกาสจากสิ่งเหล่านี้ เพื่อหารายได้สร้างตัวตนให้กลายเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์รีวิวสินค้าหรืออาหาร สถานที่เที่ยวเพื่อให้มีความสุข เอ็นจอยกับสิ่งที่ชอบ แต่สำหรับคนที่ไม่มีต้นทุนในการทำเรื่องเหล่านี้ ก็อาจจะต้องเลิกเสพติดโซเชียลเลิกติดมือถือ แล้วหันมาใช้ชีวิตกับตัวเองหางานอดิเรกทำ เช่น ออกกำลังกายปลูกต้นไม้

หาแรงบันดาลใจจำกัดงบ

คนที่ติดสังคม ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ก็ควรจะหาแรงบันดาลใจสูบดื่มให้น้อยลง จำกัดปริมาณการสูบดื่ม หลีกเลี่ยงการไปเที่ยวสถานบันเทิงผับ บาร์ หรืองานปาร์ตี้ต่าง ๆ เพราะอาจจะกระตุ้นความอยากขึ้นมาได้อีก และต้องรู้จักปฏิเสธเมื่อถูกเพื่อนหรือคนอื่นชวน รวมทั้งหากกิจกรรมอื่นทำ เพราะหากอยู่เฉย ๆ แล้วรู้สึกว่างรู้สึกเหงา อยากเข้าสังคมกินดื่มสูบขึ้นมาอีก

ด้านการเสี่ยงโชคเล่นหวยของคนไทย ถือว่ายากยิ่งกว่า ไม่เล่นแล้วงวดหน้าไม่มีอยู่จริง ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เงินในกระเป๋าเราเหลืออยู่มากที่สุดนั่นคือการกำหนดงบในการซื้อ คิดถึงความเป็นจริงแล้ว เปลี่ยนการลงทุนหันไปฝากเงินในสลากออมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการฝากเงินที่ไม่มีความเสี่ยงเหมือนกับ “การลงทุน” ซึ่งจะมีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและมีโอกาสลุ้นรางวัลใหญ่เหมือน “หวย”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายแอบแฝงของคนไทย ที่เห็นภาพกันแบบชัด ๆ ซึ่งหากใครที่สามารถลดทอนค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกไปได้…ก็เชื่อว่าปัญหา “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ในแต่ละเดือนย่อมหมดไป และที่สำคัญยังมีเงินเก็บในกระเป๋าใช้ในยามจำเป็น หรือบั้นปลายชีวิตอย่างแน่นอน!!!.