จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 9/2567 หรือคดีลุงเปี๊ยก นำโดยนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดำเนินการทางคดีร่วมกับนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะพนักงานอัยการ โดยมีมติร่วมกันในที่ประชุมหลังจากมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหาข้าราชการตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเตรียมนัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและเข้าให้ปากคำ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยถึงความคืบหน้าทางคดีพิเศษที่ 9/2567 กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฏหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ว่า จากมติในที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวน โดยมีนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้ทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบสำนวน ได้มีความเห็นพ้องกันจากการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่าเบื้องต้นในวันที่ 17 เม.ย. ตนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหา จำนวน 8 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบัญชา งานสืบสวนและจับกุมตัวลุงเปี๊ยก ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมกันกระทำการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย มาตรา 6 (การกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมโหดร้าย) มาตรา 7 (การอุ้มหาย หรือการกระทำที่มีการปกปิดชะตากรรม) มาตรา 22 (ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ) มาตรา 309 (ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นฯ) มาตรา 310 (ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย) ประกอบมาตรา 83 (ตัวการร่วม)

นายอังศุเกติ์ กล่าวว่า  หมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 8 หมายนี้จะถูกส่งไปยัง ผบก.ภ.จว.สระแก้ว ให้รับทราบ สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมดที่จะต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 พ.ค.นี้ คือ 1.ผกก.สภ.อรัญประเทศ 2.รอง ผกก.สืบสวน สภ.อรัญประเทศ 3.สารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนอีก 5 ราย โดยจะแบ่งการสอบปากคำออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 09.00 น. จำนวน 4 ราย (กลุ่มผู้บังคับบัญชา) และช่วงกลางวันตั้งแต่เวลา 13.00 น. อีก 4 ราย (กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน) ทั้งนี้ สถานที่ที่จะใช้ในการสอบปากคำและแจ้งข้อหา ได้แก่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จะใช้ห้องประชุม 1 ชั้น 1 และห้องประชุมของกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ชั้น 7 ส่วนที่อาคารศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จะใช้ห้องประชุมชั้น 7 ของกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูล และห้องประชุมของกองบริหารคดีพิเศษ

นายอังศุเกติ์ กล่าวว่า  สำหรับขั้นตอนการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ชม.ต่อคน โดยจะมีการแจ้งข้อหาให้รับทราบ แจ้งพฤติการณ์ความผิด แจ้งสิทธิของผู้ต้องหา และพิมพ์ลายนิ้วมือ อีกทั้งพนักงานสอบสวนจะมีประเด็นสำหรับใช้ในการสอบถาม ซึ่งจะเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้ผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลในกรณีที่ยินยอมพร้อมให้ปากคำ อาทิ ท่านจะให้การอย่างไร ภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ความผิด ท่านอยู่ที่ไหนและทำหน้าที่อะไรอยู่ในวันเกิดเหตุ สาเหตุที่ท่านทำพฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร แต่ถ้าผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหา ยังไม่พร้อมให้ข้อมูลก็อาจจะใช้เวลาเร็วขึ้น เนื่องจากผู้ต้องหาทุกรายมีสิทธิที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลังได้ โดยพนักงานสอบสวนจะกำหนดนัดหมายวันเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

นายอังศุเกติ์ เผยด้วยว่า กรณีพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อนายปัญญา หรือลุงเปี๊ยก ที่มีการพูดถึงโดยพยานที่เชื่อถือได้ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เร่งแอร์ให้อุณหภูมิภายในห้องสอบสวนลดต่ำลงและใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะของลุงเปี๊ยกคือคนเดียวกัน มีตำแหน่งเป็น “ดาบตำรวจ” และเป็น 1 ใน 8 ผู้ต้องหาที่จะต้องเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 พ.ค.

นายอังศุเกติ์ ปิดท้ายว่า การแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการหว่านข้อกล่าวหาแน่นอน เพราะพนักงานสอบสวนได้มีการวินิจฉัยและถกหารือกันจากพยานหลักฐานทั้งหมดอย่างรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว และแต่ละมาตราที่ได้แจ้งไป มันมีความแตกต่างกันอันเกิดจากพฤติการณ์ความผิดมันไปเข้าองค์ประกอบ ทั้งยังต้องดูประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น การแจ้งข้อหาตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ก็เนื่องมาจากเป็นคนละฐานความผิด จึงไม่สามารถรวมกันได้ พบองค์ประกอบก็ต้องแจ้งตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาไม่เข้าลักษณะความผิดอื่นใด เราก็จะไม่แจ้งข้อหาฐานความผิดนั้นๆ ย้ำว่าไม่เป็นการกลั่นแกล้งหรือแจ้งข้อหาเกินสัดส่วนความเป็นจริง