การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน 2024 หรือกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส “ปารีสเกมส์” ระหว่าง 26 ก.ค.-11 ส.ค. นี้ เริ่มบถอยหลัง 100 วัน เข้าสู่ปารีสเกมส์ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา ก่อนมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 ก.ค. นี้ ซึ่ง โทนี เอสตองเกต์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันปารีสเกมส์ ยืนยันว่า การเตรียมการแข่งขันทุกอย่างในเวลานี้พร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เป็นสิ่งที่เจ้าภาพจะไม่ปล่อยให้มีช่องโหว่แน่นอน พร้อมต้อนรับทุกคนจากทั่วโลกมาที่ปารีสแล้ว

อย่างไรก็ตาม สื่อทั่วโลกยังเป็นห่วงสถานการณ์ความขัดแย้งด้านการเมืองในขณะนี้ จะกระทบต่อ “ปารีสเกมส์” แม้สหประชาชาติ จะมีการประกาศหนุกฎพักรบช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตามธรรมนูญโอลิมปิกของคณะกกรมการโอลิมปิกสากล (IOC) หรือไอโอซีก็ตาม โดยมีการชี้ถึง 4 ประเด็นสำคัญเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องระวัง ได้แก่

1.สงครามรัสเซียบุกยูเครน ที่มีเบลารุสช่วยเหลือ ทำให้นักกีฬารัสเซียและเบลารุสโดนแบนห้ามลงแข่งภายใต้ธงชาติของตน ห้ามร่วมเดินขบวนนักกีฬาในพิธีเปิด และนักกีฬาต้องพิสูจน์ว่า ไม่ได้สนับสนุนสงครามในยูเครน ไม่ผูกพันกับกองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งไอโอซี ประเมินเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่า จะมีชาวรัสเซีย 36 คน และชาวเบลารุส 22 คน ผ่านรอบคัดเลือกมาปารีสเกมส์ เป็นที่น่าหวั่นใจว่าจะเกิดความขัดแย้งในระหว่างแข่งขัน  

2.ปัญหาสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งไอโอซี มุ่งมั่นที่จะอยู่เหนือความขัดแย้งในฉนวนกาซา ที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติอิสราเอลและปาเลสไตน์ ได้อยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ปี 1995 แต่การตอบโต้ต่อการโจมตีนองเลือดของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้ทำลายสำนักงานใหญ่ของสถาบันกีฬาหลักของปาเลสไตน์ และทำให้บุคคลสำคัญด้านกีฬาเสียชีวิต รวมทั้ง โค้ชของทีมฟุตบอล ซึ่งทั้งชาวปาเลสไตน์และรัฐอาหรับ ไม่ได้ขู่ว่าจะคว่ำบาตรการแข่งขันหากชาวอิสราเอลเข้าร่วม ทำให้ไอโอซีต้องใช้แนวทางเพื่อรับประกันการปรากฏตัวของชาวปาเลสไตน์ ที่ผ่านรอบคัดเลือกสู่ปารีสเกมส์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัย ไม่ให้ซ้ำรอยปี 1972 เมื่อชาวอิสราเอล 11 คน ถูกสังหารระหว่างการโจมตีคณะผู้แทนโอลิมปิกในมิวนิก โดยสมาชิกขององค์กรหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์

3.ปัญหาอิหร่าน-อิสราเอล เป็นความไม่แน่นอนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบของความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงต่อการแข่งขัน แม้หลักของไอโอซี แยกกีฬาออกจากการเมือง แต่มีความกังวลว่านักกีฬาจากทั้งสองประเทศจะอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านโอลิมปิกอย่างไร และแสดงพฤติกรรมของพวกเขาในการแข่งขันอย่างไร โดยอิหร่านลั่นจะลงโทษนักกีฬาที่จับมือกับชาวอิสราเอล และเรียกร้องให้พวกเขาอย่าแข่งขันกับอิสราเอล

4.ปัญหาอัฟกานิสถาน เป็นแรงกดดันในการกลับมามีอำนาจของกลุ่มตาลีบัน ทำให้ไอโอซี เผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องการช่วยเหลือนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ที่ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถาน และข้อจำกัดห้ามผู้หญิงที่เข้าร่วมกีฬาของตาลีบันนั้น ละเมิดหลักการของโอลิมปิก ซึ่งไอโอซี เรียกร้องให้ทางการอัฟกานิสถานรับประกัน “การเข้าถึงกีฬาอย่างปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” โดยไอโอซี ยังได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักกีฬา และหน่วยงานโอลิมปิกให้คำมั่นว่าจะ “ทำทุกอย่างที่เป็นไปได้” เพื่อให้แน่ใจว่าทีมอัฟกานิสถาน เคารพความเท่าเทียมทางเพศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งไอโอซีไม่เชื่อว่าการแยกชุมชนกีฬาอัฟกานิสถานในเวลานี้ จะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ภาพ AFP