เมื่อวันที่ 17 เม.ย. เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แถลงรายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ โดยมีข้อสรุปสาระสำคัญดังนี้ 1.นิยามความว่าแรงจูงใจทางการเมือง หมายถึงการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดออย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง 2.ข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมืองจากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบมีความชัดเจนพอสมควรและได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว ต่างจากหน่วยงานอื่นที่ขอไป ซึ่งยังขาดความชัดเจนเพียงพอต่อการนำมาใช้ประกอบเป็นข้อมูลถิตินำเสนอ

นายนิกร กล่าวว่า 3. ฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรมคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาเรื่องข้อมูลฐานความผิด โดยนำบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ที่กำหนดความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จำนวน 15 ฐานความผิดมาเป็นหลักในการพิจารณาร่วมกับบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข (พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ) ฐานคดีความผิดทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเพิ่ม ในฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอ) กับอีก 6 ฐานความผิด เป็น 15 ฐานความผิด และเพิ่มกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมืองอีก 8 ฉบับ จากเดิม 17 ฉบับ รวมเป็น 25 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง 2567

นายนิกร กล่าวต่อว่า 4. ข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมืองฐานความผิด จากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมืองฐานความผิด จากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2548-การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาเยาวชนและประชาชน ปี 2563-ปัจจุบัน 5. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 คณะอนุกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ แล้วเห็นว่าเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น ยังคงเป็นประเต็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ 6. การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์ แก่สาธารณชนตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมควรใช้การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนกับคดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนก่อนที่จะมีกฎหมายนิโทษกรรม

นายนิกร กล่าวอีกว่า 7. ข้อมูลความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากข้อมูลสถิติในช่วงปี 2563 ถึง 2567 จะมีคดีประมาณ 73,009 คดี เหตุที่มีคดีเป็นจำนวนมากเพราะเป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงควรนำเรื่องการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมาบังคับใช้ 8. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีข้อมูลสถิติจำนวนมาก จึงควรแยกส่วนการพิจารณาข้อมูลสถิติดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการพิจารณาในภาพรวม 9. ระยะเวลาในการนิรโทษกรรมคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในกรณีที่จะมีการนิรโทษกรรม คือ ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ถึงปัจจุบัน 10. ขั้นตอนต่อไปของรายงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง รายงานที่เสร็จสิ้นแล้วฉบับนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้พิจารณาต่อไปในวันที่ 18 เม.ย. นี้.