เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ว่า อนุ กมธ. ไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะไม่สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลได้ ประเด็นที่อนุ กมธ. พิจารณาคือ 1.อยู่ในระยะเวลาปี 2548 ถึงปัจจุบันหรือไม่ 2.ฐานความผิด 25 ฐาน กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดนี้ 3.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุ กมธ. ที่มีนายยุทธพร อิสรชัย กมธ. จะพิจารณากำหนดรายละเอียด จำแนกความผิดในการนิรโทษกรรมอีกครั้ง

เมื่อถามย้ำว่า คดีจำนำข้าวนี้ไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่จะพิจารณาได้ใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรายเคส แต่พิจารณาเป็นฐานความผิด ทุกเคสทุกคดีพิจารณาจาก 3 ประเด็นที่ว่ามา ส่วนตัวไม่มีความเห็นคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในเงื่อนไขของอนุ กมธ. หรือไม่ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ยืนยันว่าไม่มีใครส่งสัญญาณอะไรมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 25 ฐานความผิดที่อนุ กมธ. พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิด อันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท มาตรา 107-112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ มาตรา 113-129 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มาตรา 211-214  ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา 215-216 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดเพลิงไหม้ มาตรา 217-220 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295-300 ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309-321 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358-361 ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362-366 ความผิดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกปี 2522 ความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปี 2535.