จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถูกคุมความประพฤติ ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกรมคุมประพฤติ เนื่องจากได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยยังคงพักโทษอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 18 เม.ย. ที่ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงการถูกคุมความประพฤติของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า หลักการของผู้ถูกคุมความประพฤติ จะผิดเงื่อนไขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการพักการลงโทษ คณะกรรมการการลดโทษ หรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ซึ่งจะมี 10 เงื่อนไข แต่ในส่วนของคณะกรรมการพักการลงโทษจะมี 7 ห้าม และ 6 ให้ปฏิบัติ ซึ่งส่วนนี้ได้มีการเปิดกว้างให้คณะอนุกรรมการฯ สามารถไปกำหนดได้อีกว่าจะมีข้อห้ามอะไร และข้อให้ปฏิบัติอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การที่จะไปกำหนดข้อห้ามต่าง ๆ แก่ผู้ถูกคุมความประพฤติ เช่น กรณีการห้ามพูดกล่าวทางการเมือง จะเหมาะสำหรับผู้ได้รับการพักโทษที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาความมั่นคง อาทิ มาตรา ม.116 หรือข้อหาทางการเมือง หรือการไปไฮด์ปาร์คแล้วสร้างความเสื่อมเสีย เป็นต้น แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้ถูกดำเนินคดีดังกล่าว ก็จะไม่ถูกกำหนดให้เป็นข้อห้าม ดังนั้น จึงสามารถไปพูดทางการเมืองและพบปะบุคคลทั่วไปได้ ยกเว้นการเข้าเยี่ยมญาติแก่ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน

พ.ต.ท.มนตรี เผยถึงการรายงานตัวของนายทักษิณต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ว่า ตั้งแต่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการคุมประพฤติและพักอาศัยอยู่ในสถานที่พักโทษที่ได้แจ้งไว้นั้น นายทักษิณได้มีการรายงานตัวไปแล้ว 2 ครั้ง ส่วนภายในเดือน เม.ย. จะเป็นการรายงานตัวครั้งที่ 3 นอกจากนี้ ในการรายงานตัวครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ตนทราบว่านายทักษิณเป็นฝ่ายเดินทางเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ณ สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ด้วยตัวเอง ส่วนครั้งที่ 3 จะเป็นการไปรายงานตัวด้วยตัวเองหรือเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเข้าไปพบนั้น ตนขออธิบายตามหลักการ หากผู้ถูกคุมประพฤติมีสุขภาพดี ก็ต้องเดินทางไปรายงานตัวด้วยตัวเอง ซึ่งกรมคุมประพฤติไม่ได้มีเพียงสำนักงานคุมประพฤติที่กระจายไปตามเขตพื้นที่ แต่เรายังมีศูนย์คุมประพฤติภาคประชาชนกระจายตามอำเภอในประเทศไทย จำนวน 258 แห่ง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกล และได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ศูนย์คุมประพฤติภาคประชาชน สาขาสว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นต้น รวมถึงในกรณีที่บุคคลที่ถูกคุมประพฤติหากเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่คุมประพฤติก็สามารถเดินทางไปรับรายงานตัวยังสถานที่ที่พักรักษาตัวอยู่ได้ด้วยเช่นกัน โดยทางผู้อุปการะจะเป็นฝ่ายประสานแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ให้รับทราบ

พ.ต.ท.มนตรี เผยต่อว่า ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการคุมประพฤติ ตนยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการประพฤติผิดหลักกฎหมายหรือเงื่อนไข ซึ่งการขออนุญาตเดินทางไปยังต่างจังหวัด นอกเขตพื้นที่การพักโทษของผู้ถูกคุมประพฤติสามารถกระทำได้โดยไม่มีกรอบจำกัด หากมีเหตุธุระจำเป็น เพียงแค่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติให้รับทราบ ส่วนเรื่องสถานที่พักโทษ หรือบ้านจันทร์ส่องหล้า ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นสถานที่พักโทษอื่นหรือยังนั้น ตรงนี้ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่หลักการปกติก็ต้องกลับมาพักอาศัยยังสถานที่พักโทษที่ได้แจ้งไว้ ทั้งนี้ มีกรณีที่กรมคุมประพฤติ เคยอนุญาตให้ผู้ถูกคุมประพฤติบางรายได้เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยระยะเวลายาว เนื่องจากบุคคลดังกล่าวพักอาศัยอยู่ใน จ.นนทบุรี แต่สถานที่ทำงานอยู่ใน จ.ปทุมธานี ถือเป็นพื้นที่จังหวัดรอยต่อ ประมาณ 200 เมตร จึงเป็นสาเหตุที่กรมคุมประพฤติอนุญาต

พ.ต.ท.มนตรี เผยด้วยว่า ส่วนกรอบระยะเวลาการสิ้นสุดการพักโทษของนายทักษิณนั้น กระบวนการพักโทษมีระยะเวลากำหนดอยู่แล้ว แต่ถ้ายึดตามหลักการ คือ เหลือโทษจำคุกเท่าไรก็พักโทษเท่านั้น ยกเว้นมีเหตุได้รับพระกรุณาฯ พระราชทานอภัยโทษ ระยะเวลาของโทษก็จะลดลง เช่น โทษจำคุกเหลือ 6 เดือน ก็จะถูกคุมประพฤติ 6 เดือน ส่วนถ้าครบกำหนดพักโทษแล้ว กระบวนการหลังจากนี้ คือ กรมราชทัณฑ์จะต้องออกใบบริสุทธิ์แจ้งมายังกรมคุมประพฤติ ก็จะถือว่าพ้นการคุมประพฤติทันที ส่วนเรื่องการขออนุญาตเดินทางไปต่างจังหวัดนอกจากนี้ของนายทักษิณ ยังคงไม่มีแจ้งมาแต่อย่างใด อีกทั้งการที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์เรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น้องสาว) อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับประเทศไทยในเร็วๆ นี้ตามความตั้งใจ หรือการไปรับฟังรายงานต่างๆ ของบรรดารัฐมนตรี หรือให้คำแนะนำก็ถือเป็นเรื่องที่สามารถพูดจาได้ เพราะท่านก็มีประสบการณ์ความรู้ที่ผู้บริหารอาจมองว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ.