เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 เม.ย. ที่ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปสถิติยอดคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน (11-17 เม.ย.) ว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ ให้ข้อมูลสรุปปิดยอดสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติในวันสุดท้ายของ 7 วันควบคุมเข้มข้นสงกรานต์ 2567 โดยมีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ จำนวนทั้งสิ้น 1,602 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,541 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.20 และคดีขับเสพ 61 คดี คิดเป็น ร้อยละ 3.80

พ.ต.ท.มนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนสถิติคดียอดสะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 7,388 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 7,130 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.51 คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.04 คดีขับเสพ 255 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.45 สำหรับจังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 664 คดี จ.อุบลราชธานี จำนวน 550 คดี และ จ.เชียงใหม่ จำนวน 389 คดี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 66 มีจำนวน 8,575 คดี กับปี 67 มีจำนวน 7,130 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 1,445 คดี คิดเป็นร้อยละ 16.85

พ.ต.ท.มนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจร ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 882 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 30,215 คน ทั้งนี้ มาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา ทุกรายจะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับมาตรการทางกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กรมคุมประพฤติจะรายงานกลับไปยังศาล เพื่อนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบังคับใช้.