สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) มีมติเกี่ยวกับความพยายามครั้งใหม่ของปาเลสไตน์ ในการเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้วยเสียงข้างมาก 12 เสียง ส่วนสหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ งดออกเสียง


อย่างไรก็ตาม สหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอิสราเอล และเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวร ใช้อำนาจวีโต้ปัดตกมติ ส่งผลให้มติดังกล่าว ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่สองของปาเลสไตน์ ต่อจากเมื่อปี 2554 มีอันต้องตกไป

AFP


ด้านการใช้อำนาจวีโต้ของรัฐบาลวอชิงตัน ไม่เหนือความคาดหมายเช่นกัน นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวตั้งแต่ต้นว่า จุดยืนของสหรัฐในเรื่องนี้ “ยังไม่เปลี่ยนแปลง” แต่รัฐบาลวอชิงตันสนับสนุนการแสวงหาหนทางสันติภาพ ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ภายใต้แนวทางสองรัฐ


ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลปาเลสไตน์เผยแพร่แถลงการณ์ของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ ประณาม “ความก้าวร้าว” ของสหรัฐ ที่สนับสนุน “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มฮามาสออกแถลงการณ์ประณามการวีโต้ของสหรัฐเช่นกัน


ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนของเอกสารสมัคร ที่นายริยาด มานซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น ยื่นต่อนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ระบุด้วยว่า สงครามที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ซึ่งกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาส สู้รบยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า การมีสถานะสมาชิกยูเอ็นอย่างเต็มรูปแบบ มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปาเลสไตน์ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ตั้งแต่ปี 2555


อนึ่ง การยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติของปาเลสไตน์ เมื่อปี 2554 ไม่เคยเข้าสู่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซี นำไปสู่มติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) อนุมัติสถานะผู้สังเกตการณ์ให้แทน เมื่อปี 2555 โดยสหรัฐและอิสราเอลคัดค้าน


สำหรับขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นตามหลักการนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นเอสซีก่อน แล้วจึงส่งเข้าสู่การลงมติของยูเอ็นจีเอ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ.

เครดิตภาพ : AFP