เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยยังมีความรุนแรง โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และเด็ดขาด ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เสริมสร้างความรู้เท่าทันและป้องกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชน โดยในปีการศึกษา 2567 นี้ สกร. จะมีการทำงานเชิงรุกที่เกี่ยวกับการป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ก่อนเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงสายอาชีพ ที่ต้องมีการเน้นย้ำให้นักศึกษารู้ถึงโทษ พิษภัยของยาเสพติด ที่ส่งผลต่อสติปัญญา สุขภาพร่างกาย ความปลอดภัยของคนในชุมชน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้เรียน ซึ่งผู้ที่มาเรียนกับ สกร. หรือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เดิม ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ช่วยกันรณรงค์ป้องกันยาเสพติดเข้ามาแพร่ระบาดในชุมชน และ สกร. จะมีการประเมินผลการดำเนินโครงการและการจัดกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัด ทุก 3 เดือน เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดกิจกรรมว่าสำเร็จหรือไม่ หรือ ยังมีจุดใดที่ควรแก้ไข เสริมเติมเต็มอีก

“ผมให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหายาเสพติดมาก ที่ผ่านมา สกร. ได้ดำเนินโครงการและจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการเสริมสร้างความรู้เท่าทัน และป้องกันยาเสพติด สร้างความตระหนักและจิตสำนึกร่วมในการป้องกันปัญหายาเสพติด และในปีการศึกษานี้ สกร. จะทำงานในเชิงรุก โดยผมได้มอบหมายให้ ผอ.สกร.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร หารือ กับ ผอ.สกร.อำเภอ/เขต ว่าในการจัดกิจกรรมต้องมีการมาประเมินผล เช่น ทักษะชีวิตด้านการป้องกันยาเสพติดนั้นปัญหาเบาบางลงบ้างหรือไม่ เพื่อนำผลมาปรับกระบวนการ และเพื่อให้เห็นผลการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อสังคมชุมชนที่ปลอดยาเสพติด เรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน จะละเลยไม่ได้ ซึ่งงานของ สกร. ที่เกี่ยวกับยาเสพติด เราทำในเชิงป้องกัน ไม่ได้ปราบปราม และไม่ได้มองเฉพาะจุดที่ศูนย์การเรียนรู้ตำบล (ศกร.ตำบล) หรือหน่วยงานของ สกร. ตั้งอยู่เท่านั้น แต่กลุ่มเป้าหมายของ สกร. คือ คนทั้งชุมชน ทั้งตำบล อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเรามีครู กศน. ตำบลละ 1 คนเท่านั้น ขณะที่ประชากรในตำบล ในชุมชน มีจำนวนไม่ใช่น้อย ดังนั้น วิธีการทำงานของ สกร. คือ การประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เช่น ฝ่ายปกครองเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ และให้ทุกหน่วยงานในชุมชน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังดูแลบุตรหลาน คนในบ้าน คนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยลดและป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนลงได้” นายธนากร กล่าว.